การกำหนดอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วของพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี

08 Jul 2011

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (ผอ. สบน.) แถลงว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ร่วมกับธนาคารตัวแทนจำหน่ายพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อทั้ง 4 แห่ง (1. ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง ประเทศไทย 2. ธนาคารกรุงไทย 3. ธนาคารกสิกรไทย และ 4. ธนาคารไทยพาณิชย์) ได้มีการสำรวจตลาด (Book build) เพื่อสำรวจความต้องการลงทุนที่แท้จริงของนักลงทุนที่มีต่อพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อที่ออกครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีผลสรุป ดังนี้

1. นักลงทุนมีความต้องการลงทุนรวมสูงสุดถึง 65,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.6 เท่าของวงเงินการออก 40,000 ล้านบาท (กระทรวงการคลังได้กำหนดกรอบวงเงินการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อไว้ที่ 20,000 ถึง 40,000 ล้านบาท)

2. จากการทำ Book build ที่เสนออัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่ ร้อยละ 1.00 ถึง 1.25 พบว่าสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon rate) ของพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อได้ที่ร้อยละ 1.20 โดยที่อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ร้อยละ 1.20 มีนักลงทุนจองซื้อพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อรวม 53,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นความต้องการของนักลงทุนต่างชาติ 25,000 ล้านบาท และนักลงทุนในประเทศ 28,000 ล้านบาท (นักลงทุนสถาบัน 24,000 ล้านบาทและนักลงทุนรายย่อย 4,000 ล้านบาท)

ในการนี้ สบน. คาดว่าจะมีการจัดสรรแบ่งวงเงินให้

  • นักลงทุนในประเทศได้รับจัดสรร 2 ใน 3 ของวงเงินการออกพันธบัตรทั้งหมด (ประกอบด้วย 1. นักลงทุนสถาบันในประเทศ เช่น บริษัทประกันชีวิต กองทุน และสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งจะเป็น Market Maker หรือผู้สร้างสภาพคล่องให้กับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อในตลาดรองและ 2. ลูกค้ารายย่อย ซึ่งรวมถึงสถาบันที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น สหกรณ์ของสถาบันการศึกษาและมูลนิธิต่างๆ)
  • นักลงทุนต่างชาติได้รับจัดสรร 1 ใน 3 ของวงเงินการออกพันธบัตรทั้งหมด (ประกอบด้วยกองทุนระยะยาวเป็นส่วนใหญ่ โดยล่าสุด มีกองทุนจาก 10 ประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และฮ่องกง)

ทั้งนี้ ประชาชนจะสามารถเข้าซื้อพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อได้ในระหว่างวันที่ 11 – 13 กรกฎาคม 2554 ณ ธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง ประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

สำนักพัฒนาตลาดตราสารหนี้

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

02-265-8050 ต่อ 5806,5807

www.pdmo.mof.go.th