ซีพีเอฟ ทุ่มงบ 20 ล้าน พัฒนากรีนฟาร์มต่อเนื่อง เปลี่ยนภาพลักษณ์ฟาร์มหมูเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

15 Aug 2011

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ซีพีเอฟ

ซีพีเอฟ ทุ่มงบ 20 ล้าน พัฒนากรีนฟาร์มต่อเนื่อง เปลี่ยนภาพลักษณ์ฟาร์มหมูเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมคาดขยายครบทุกฟาร์มในสิ้นปี 2554 ฝากรัฐบาลใหม่ส่งเสริมเกษตรกรยกระดับภาคปศุสัตว์ไทย

ซีพีเอฟทุ่มงบประมาณ 20 ล้านบาท ปฎิวัติภาพลักษณ์ฟาร์มสุกร สร้างฟาร์มสีเขียว หรือกรีนฟาร์ม (Green Farm) ต่อเนื่อง วางเป้าผลักดันครบทุกฟาร์มของบริษัทภายในสิ้นปี 2554 เตรียมผลักดันสู่เกษตรกรโครงการส่งเสริมฯ พร้อมฝากภาครัฐให้สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับภาคปศุสัตว์ไทยให้มีมาตรฐานและเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมลดภาวะโลกร้อน

นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า นอกเหนือจากการมุ่งมั่นผลิตสุกรปลอดสารเพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัย ที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อผู้บริโภคแล้ว ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขของภาคปศุสัตว์กับชุมชน ด้วยการดำเนินนโยบาย “มุ่งมั่นผลิตสุกรที่มีคุณภาพดี มีสุขอนามัย ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

“ซีพีเอฟวางนโยบายการสร้างฟาร์มเลี้ยงสัตว์ไว้ตั้งแต่ต้นว่า จะต้องเลือกพื้นที่ที่ห่างไกลจากชุมชนเพื่อลดผลกระทบที่อาจมีต่อชุมชน แต่ต้องยอมรับว่าการขยายตัวของชุมชนนั้นรวดเร็วมาก ทำให้วันนี้ฟาร์มหลายแห่งของเราอยู่ใกล้กับชุมชนมาก ดังนั้นการทำให้ฟาร์มอยู่ร่วมกับชุมชนได้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เราจึงสร้างต้นแบบกรีนฟาร์มสำหรับฟาร์มเลี้ยงสุกรไว้ที่ ฟาร์มสุกรพันธุ์ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ซึ่งพบว่าสามารถพลิกภาพลักษณ์ฟาร์มสมัยเก่าให้กลายเป็นฟาร์มเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างแท้จริง จึงได้ขยายความสำเร็จนี้ไปยังฟาร์มอื่นๆของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีกรีนฟาร์มทั้งหมด 15 ฟาร์ม จากทั้งหมด 30 ฟาร์ม แต่ละแห่งใช้เงินลงทุน 3 แสน - 1 ล้านบาท โดยได้วางเป้าหมายดำเนินการให้ครบทุกฟาร์มภายในสิ้นปี 2554 นี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนโครงการนี้ประมาณ 20 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ก็จะผลักดันให้ฟาร์มเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกร ให้ดำเนินโครงการนี้เช่นเดียวกันกับบริษัทเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน” นายสมพรกล่าว

โครงการกรีนฟาร์ม เน้นการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานและใส่ใจชุมชนรอบข้าง ประกอบด้วย 3 กระบวนการหลัก คือ 1.การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยระบบแก๊สชีวภาพ หรือไบโอแก๊ส ปัจจุบันสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซมีเทน สาเหตุของภาวะโลกร้อน ได้มากถึง 170,721 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ถึงปีละ 851,800 ต้น ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในแต่ละเดือนได้มากถึง 30-40% 2.การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการปลูกต้นไม้ ที่ดำเนินการมากว่า 19 ปี ตั้งแต่ปี 2535 นับถึงปัจจุบันซีพีเอฟได้ปลูกต้นไม้ในฟาร์มแล้วกว่า 140,000 ต้น ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวรวม 2,000 ไร่ และ 3.การลดกลิ่นด้วยระบบการฟอกอากาศ โดยนำรูปแบบจากประเทศเยอรมันนีมาปรับปรุง สำหรับช่วยลดกลิ่นเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีกลิ่นรบกวนชุมชน พบว่าระบบนี้สามารถลดกลิ่นเหม็นและกลิ่นก๊าซแอมโมเนียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันได้พัฒนาระบบให้เหมาะสม สำหรับนำไปใช้ในฟาร์มของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟ เพื่อให้เกษตรกรได้ร่วมตระหนักถึงความสำคัญของสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน

“การส่งเสริมภาคปศุสัตว์ของไทยให้มีการบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์พลังงานไปพร้อมกัน ดังเช่นกระแสที่ภาคปศุสัตว์ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับภาคปศุสัตว์ไทยให้มีมาตรฐานและเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมลดภาวะโลกร้อน” นายสมพร กล่าวสรุป

พรรณินี นันทพานิช ด้านสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF

โทร. 02-625-7343-5, 02-631-0641, 02-638-2713 / e-mail : [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net