กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--เวิรฟ
วิถีชีวิตของสังคมไทย มักอยู่ร่วมกันในลักษณะครอบครัวใหญ่และพักอาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านหลังเดียว วัฒนธรรมไทยถือว่าการดูแล ปู่ ยา ตา ยาย หรือผู้สูงอายุเป็นสิ่งดีงาม แสดงออกถึงความกตัญญู ดังนั้นเทรนด์การสร้างบ้านหรือที่พักอาศัยในปัจจุบัน จึงปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมเป็นหลัก โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุพักอาศัยรวมอยู่ด้วย
สำหรับที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ การกำหนดพื้นที่ใช้สอยอย่างชัดเจน ควรที่จะพูดคุยกับสถาปนิกและมัณฑนากรว่าแต่ละห้องควรจะตกแต่งอย่างไร เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้อย่างสะดวกปลอดภัย ดูแลง่าย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจจะทุพพลภาพหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต เพราะอุบัติเหตุที่พบมากที่สุดสำหรับคนวัยนี้คือ การลื่นหกล้ม
ดังนั้นการออกแบบที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เริ่มตั้งแต่ โครงสร้าง การตกแต่งบ้าน การจัดวางหรือติดตั้งเครื่องใช้ไม้สอยและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุจึงมีรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ที่เราควรจะใส่ใจเป็นพิเศษ ผู้สูงอายุต้องการพื้นที่ไม่มาก ผลจากความเสื่อมถอยของร่างกาย 4 ด้าน อันได้ แก่ การมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหวจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และความไม่สมดุลย์ของฮอร์โมนและอารมณ์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามหากมีที่พักอาศัยเดิมอยู่แล้ว และมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุ ก็ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงบ้านทั้งหลัง เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ จะคุ้นเคยกับการใช้พื้นที่ซ้ำๆ เช่น ห้องครัว ห้องนอน ระเบียงหน้าบ้าน เป็นต้น เราอาจเลือกปรับเปลี่ยนเฉพาะพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้ง่ายและสะดวกต่อผู้สูงอายุ โดยที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนัก
ภายใต้แนวคิดการออกแบบเพื่อการอยู่อาศัยของคน 3 รุ่น (3 Generations) โดยเน้นหลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal design) เพื่อเอื้อต่อการอยู่ร่วมกันของคนทุกวัย ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ดีไอ ดีไซนส์ จำกัด ได้กล่าวถึงแนวคิดดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “เราได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อคิดค้นนวัตกรรมการออกแบบที่พักอาศัยที่สามารถตอบสนองและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และนำความรู้ที่ได้มาใช้กับโครงการต่างๆของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล้อปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มบริษัท ดีที ร่วมกัน นอกจากนี้เรายังพร้อมที่จะเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ให้กับหน่วยงานที่สนใจ สถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อช่วยกันพัฒนางานออกแบบให้เป็นประโยชน์กับคนในสังคม หรือนำความรู้ไปสร้างบ้านที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุให้มากที่สุด ที่ผ่านมาบริษัทแมกโนเลียฯ ได้นำความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้ไปใช้จริงในโครงการหมู่บ้านแมกโนเลีย เซ้าเทิร์น แคลิฟอร์เนีย บางนาตราด กิโลเมตรที่ 7 แล้วด้วย และการมาร่วมงาน BOI Fair ครั้งนี้ ทางเราต้องขอขอบคุณ สนช (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และเชิญเราเข้าร่วมงานเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้เป็นประโยชน์แก่คนในสังคม”
โดยภาพรวมแล้วพื้นที่ใช้สอยสำหรับที่พักอาศัยของผู้สูงอายุที่ควรคำนึงถึง เริ่มตั้งแต่พื้นบ้าน พื้นควรเรียบเสมอกัน ไม่มียกพื้นต่างระดับหรือธรณีประตู วัสดุพื้นผิวต้องไม่ลื่น แสงสว่างต้องเพียงพอต่อการมองเห็นชัดเจน มีทางลาดให้รถเข็นขึ้นลงอย่างสะดวก หากบ้านเรามีผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็น ทางเดินต้องมีราวจับเพื่อช่วยพยุงตัว เฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้ โต๊ะ เตียง ตู้ ควรวางอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีส่วนใดยื่นออกมาเกะกะ สีทาบ้านที่เหมาะสมควรเป็นสีที่สดใส นุ่มนวล เนื่องจากมีผลต่อความกระชุ่มกระชวยของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุบางคนไม่ได้อยู่กับคู่สมรส เนื่องจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะย้ายจากบ้านเดิม ทำเลที่ตั้งบ้านจึงต้องไม่ห่างไกลจากแหล่งชุมชน ใกล้สถานพยาบาล และญาติมิตรสามารถเดินทางไปมาหาสู่ได้อย่างสะดวก
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายในบ้าน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดกระดูกหักได้แม้ว่าจะล้มเพียงเบาๆ ดังนั้นบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่อาศัย ควรมีการปรับปรุงให้มีสภาพที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีความผิดปกติของร่างกาย ทั้งที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บหรือการเสื่อมถอยของร่างกายตามธรรมชาติ ห้องนอนจึงควรจะอยู่ชั้นล่าง ขนาดกำลังเหมาะ ควรมองเห็นและเข้าถึงห้องน้ำได้สะดวก ส่วนห้องน้ำควรมีการแยกระหว่างส่วนเปียกและส่วนแห้งเพื่อกันน้ำกระเด็นลื่น แต่ต้องไม่แบ่งพื้นที่จนเข้าถึงยากจนเกินไป
ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาอยู่ในห้องนั่งเล่น รองลงมาคือห้องนอน ซึ่งควรมีช่องรับแสงทางทิศตะวันออก เพื่อรับแสงยามเช้า ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุรับรู้การเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลา รู้สึกกระชุ่มกระชวยกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น ลดปัญหาเรื่องการเจ็บป่วย นอกจากนั้นเรื่องการตกแต่งตลอดจนการเลือกอุปกรณ์ใช้สอยต่างๆ เช่น เตียงนอน ลูกบิดประตู พื้นบ้าน หรือสภาพแวดล้อมอื่นๆ ควรสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวัยของผู้อยู่อาศัย ผู้สูงอายุมักใช้เวลากับการนั่งมากกว่าการทำกิจวัตรอื่นๆ เนื่องจากกระดูกและข้อเสื่อมลงทำให้สูญเสียการทรงตัว ช่องแสงหรือบานหน้าต่างควรอยู่สูงจากพื้นไม่มากนัก เพื่อให้แสงเข้าได้ดี และสามารถมองเห็นทิวทัศน์นอกบ้านได้ ภายในห้องนอนควรจะมีหิ้งพระเล็กๆ ไว้ เพื่อให้ท่านได้กราบพระก่อนนอน นั่งสมาธิ ซึ่งดีต่อสุขภาพจิตและส่งผลดีต่อสุขภาพกายด้วย ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าภายในอีก 10 ปีข้างหน้าบ้านเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ แนวโน้มการขยายตัวของการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองผู้สูงอายุจึงปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงและมีการศึกษาดี ผู้ประกอบการด้านวัสดุตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ สุขภัณฑ์ ฯลฯ ต่างก็ยอมรับและหันมาให้ความสนใจที่จะผลิตสินค้าเพื่อรองรับกลุ่มบริษัทที่สร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ เวิรฟ พรทิภา อยู่แสง (อั๋น) โทร. 0-2204-8078 หงส์สุชา ลีนะธรรม (อ๊อฟ) โทร. 0-2204-8501
-นท-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit