สพล.กก.สร้างสรรค์หลักสูตรมาตรฐานศิลปะมวยไทยสู่ตลาดโลก

18 Jan 2012

กรุงเทพ--18 ม.ค.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นายสมบัติ คุรุพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายสมพงษ์ ชาตะวิถี อธิการบดีสถาบันการพลศึกษา ร่วมกันแถลงผลงานของสถาบันการพลศึกษา ครั้งที่ ๓ ตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ให้หน่วยงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกันแถลงผลงานทุกวันจันทร์ของแต่ละสัปดาห์ เพื่อจะเผยแพร่ให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวาง ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๒ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ เมื่อวันพุธที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๕นายสมพงษ์ ชาตะวิถี อ.สพล.กก. เปิดเผยว่า จากการที่ตลาดมวยไทย ได้กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะภูมิภาคทวีปเอเชีย ยุโรป และทวีปอเมริกา มีค่ายมวยไทยในรูปแบบต่างๆทั่วโลก ในขณะนี้มีจำนวนกว่า ๒๐,๐๐๐ ค่าย และพบว่า เด็กเยาวชนไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ ๗๐ เข้าสู่กิจกรรมหารายได้ผ่านมวยไทย แต่เด็กเยาวชนในเขตเมือง กลับติดอยู่กับคอมพิวเตอร์ในรูปแบบเกมส์มากกว่าการออกกำลังกาย ไม่ว่าเกมส์การต่อสู้ ในรูปแบบเกมส์มวยไทย ซึ่งสร้างภาพลักษณ์ ในลักษณะชื่นชอบความรุนแรง เด็กจะมีนิสัยก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย และมีสุขภาพร่างกายที่ไม่เข้มแข็ง มีโอกาสเป็นโรคต่างๆได้ง่าย เพื่อจะให้เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป ไม่จำกัดเพศชาย/หญิง ได้สร้างวินัย ห่างไกลยาเสพติด มีการสร้างงานทำ เกิดภูมิปัญญาไทย ช่วยเหลือครอบครัว และหันมาออกกำลังกาย/สืบทอดกีฬาที่เป็นมรดกของชาติ ดังนั้นทางสถาบันการพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้ร่วมกันสร้างสรรค์/จัดทำหลักสูตรมาตรฐานศิลปะมวยไทย ๙ ขั้น มีการเรียนศิลปะมวยไทยอย่างเป็นระบบ เป็นวิถีชีวิตไทย มีแนวคิดหลัก(Core Concept) 5 S. เป็นองค์ประกอบ คือ ๑)Smile-ยิ้มแย้มเบิกบาน ๒)Smart-สง่างาม ๓)Strength-แข็งแกร่ง ๔)Simple-เรียบง่าย ๕)Style(Thai)-แบบไทย โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นที่ ๑ - สายขาว จนถึงขั้นที่ ๙ - สายดำ และให้ผู้เรียนได้เห็นคุณค่าของศิลปะมวยไทย ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทยตั้งแต่อดีต (พ.ศ.๑๒๐๐) และได้ถ่ายทอด มาจนถึงปัจจุบัน(พ.ศ.๒๕๕๕) เป็นเวลาร่วม ๑,๓๕๕ ปี กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย ที่เป็นที่น่าสนใจของชาวต่างชาติทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งศิลปะมวยไทยมีหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติของการต่อสู้ป้องกันตัว หรือการสงคราม(ในอดีต) มิติทางด้านการออกกำลังกาย และมิติทางด้านการอนุรักษ์รักษา แต่ยังขาดรูปแบบหรือหลักสูตรที่มีมาตรฐานชัดเจน ทำให้แต่ละองค์กรมีการถ่ายทอดไม่เหมือนกัน นำมาซึ่งความสับสนแก่ผู้เรียน และเกิดความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว สถาบันการพลศึกษาจัดทำหลักสูตรมาตรฐานศิลปมวยไทยขึ้น โดยได้จัดทำ และสร้างสรรค์ ในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งเป็นครูมวยไทยของสถาบันการพลศึกษาทั้ง ๑๗ แห่ง พิจารณายกร่างหลักสูตรและเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในวงการมวยไทย ทำการวิพากษ์หลักสูตรดังกล่าว ซึ่งหลักสูตรมาตรฐานศิลปะมวยไทยนี้ จะนำไปใช้ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน ครอบคลุมทุกกลุ่มคน รวมทั้งชาวต่างชาติทั่วโลก สามารถเรียนตามระบบนี้ได้ เป็นการเผยแพร่ศิลปะมวยไทย ตามมาตรฐานสากล ถูกต้องตามระบบ และเป็นของไทยแท้จริง โดยระบบการเรียนตามหลักสูตรมาตรฐานศิลปมวยไทย ของสถาบันการพลศึกษาสู่ตลาดโลก เป็นการประกันคุณภาพการศึกษา การเรียน การสอนศิลปะมวยไทย จะเริ่มตั้งแต่ขั้นที่ ๑ สายขาว ขั้นที่ ๒ สายเหลือง ขั้นที่ ๓ สายเขียว ขั้นที่ ๔ สายฟ้า ขั้นที่ ๕ สายน้ำเงิน ขั้นที่ ๖ สายน้ำตาล ขั้นที่ ๗ สายส้ม ขั้นที่ ๘ สายแดง และขั้นที่ ๙ สายดำ ซึ่งในแต่ละขั้นและสาย จะมีการเรียนการสอน จำนวน ๓๖ ชั่วโมง และมีการสอบเพื่อเลื่อนขั้นและสายในแต่ละขั้น รวม ๙ ขั้น จะใช้เวลา ๓๒๔ ชั่วโมง โดยจะจัดการเรียนทุก ๓ เดือน ถ้าผู้เรียนเรียนและสอบผ่านทุกขั้นตอน จะใช้เวลาในภาพรวมต่อเนื่องประมาณ ๒ ปี ๓ เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้เรียนด้วย เมื่อเรียนและสอบผ่านในแต่ละขั้น จะมีใบประกาศนียบัตร ที่ออกโดยสถาบันการพลศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ด้านการศึกษากีฬา ที่น่าเชื่อถือที่สุดของประเทศไทย ให้ไว้เป็นหลักฐาน โดยมีโครงสร้างของหลักสูตรมาตรฐานศิลปะมวยไทย ๙ ขั้น ในแต่ละขั้นจะมีหัวข้อตามแผนการสอน ๗ หัวข้อหลัก คือ ๑. ทักษะการเคลื่อนเท้า ๒. การไหว้ครูมวยไทย ๓. ทักษะมวยไทย ๔. ทักษะมวยไทยการใช้มือเป็นอาวุธ (หมัด - ศอก) ๕. ทักษะมวยไทย การใช้เท้าเป็นอาวุธ (ถีบ เตะ เข่า) ๖. กระบวนท่ายุทธมวยไทยทักษะการต่อสู้ รุก-รับ ๓ จังหวะ และ ๗. การต่อสู้แบบอิสระ (อนันตยุทธ์ มวยไทย)อธิการบดีสถาบันการพลศึกษา กล่าวปิดท้ายว่า จุดยืนของการสร้างหลักสูตรมาตรฐานศิลปะมวยไทย ของสถาบันการพลศึกษาสู่ตลาดโลก คือ การพัฒนาภาพลักษณ์ที่มีความปลอดภัย การพัฒนาการออกกำลังกาย(ไม่เน้นนำไปเพื่อการต่อสู้) การพัฒนาสุขภาพร่างกาย/จิตใจ(Physical and Psychological) และการพัฒนา/อนุรักษ์ความเป็นศิลปะประจำชาติไทยที่มีมาตรฐานระดับโลก ตลอดจนร่วมเฉลิมฉลองพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ (๙ ขั้น) อันจะเป็นพลังสร้างความภูมิใจร่วมกับคนทั้งชาติไทยร่วมกันด้วย ซึ่งจะใช้ศิษย์ปัจจุบัน/เก่า ที่มีชื่อเสียงของสถาบันการพลศึกษา ในการเป็น ตัวชูโรง(Presenter)นำเสนอหลักสูตรมาตรฐานศิลปะมวยไทยของสถาบันการพลศึกษาสู่เวที/ตลาดโลก อาทิ จา พนม ศิษย์เก่าสพล.มหาสารคาม และหรือ นักศึกษาจากวิทยาเขตมหาสารคาม ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดนาฎมวยไทย เป็นต้น และจะทำการบรรจุการเรียนการสอนหลักสูตรมาตรฐานนำร่อง(Pilot Project) ในสถานศึกษาสังกัดสถาบันการพลศึกษาทั่วประเทศ และจะทำการเผยแพร่ผ่านหน่วยงานที่มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(Memorandum of Understanding-MOU.) รวมทั้งจัดทำศูนย์มวยไทย(Hub of Muay Thai)ร่วมกับหน่วยงานทั้งในประเทศและในต่างประเทศสู่ตลาดโลก โดยจะมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่องจำนวนกว่า ๓๐ ประเทศ/หน่วยงาน อาทิ Tameside College ประเทศสหราชอาณาจักร Institute of Sports ประเทศสาธารณรัฐคิวบา Shanghai University of Sport ประเทศจีน Bac Ninh Sport University ประเทศเวียดนาม เป็นต้น ตลอดจนสอดแทรก/ประสานความร่วมมือ กับค่ายมวยไทยทั้งในประเทศและทั่วโลก ในรูปแบบต่างๆ ให้สมกับคำกล่าวว่า“มวยไทย มรดกไทย มรดกโลก”(Muay Thai is a world heritage site) อีกทั้งจะสร้างสรรค์รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงกีฬา(Sport Tourism)ให้แก่ประเทศชาติจำนวนมหาศาลด้วย

กส