กสิกรไทยส่ง 5 กลยุทธ์ ลุยปี 55 มุ่งครองแชมป์เอสเอ็มอี 5 ปีซ้อน

02 Dec 2011

กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--ธนาคารกสิกรไทย

กสิกรไทยโชว์ผลงานธุรกิจสินเชื่อเอสเอ็มอีปี 54 ทั้งปี เติบโตตามเป้าทุกด้าน ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 สี่ปีซ้อน ลุยต่อปี 55 ส่ง 5 กลยุทธ์หนุนธุรกิจเอสเอ็มอี หวังเป็นที่ 1 ในใจเอสเอ็มอีทั่วไทยครอง มาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ดันยอดรายได้รวมโต 12% สินเชื่อโต 12%

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะวิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่รอบนี้ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จึงคาดว่าจีดีพีของไทยในปี 2554 ทั้งปี จะการขยายตัวเหลือประมาณ 1.5%

อย่างไรก็ดี สำหรับผลการดำเนินงานของธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการของธนาคารตลอดทั้งปี ยังมีการเติบโตโดยรวมที่น่าพอใจบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกด้าน โดยในปีนี้ยอดรายได้อยู่ที่ 27,700 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 12% จากปีที่แล้ว ยอดสินเชื่อมีการขยายตัวจากปีที่ผ่านมา 9% ทำให้ในสิ้นปีนี้ยอดสินเชื่อจะอยู่ที่ 428,700 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และคาดว่าสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีจะอยู่ที่ 3.48% ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วที่มียอดอยู่ที่ 3.8% โดยธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ 30% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ครองอันดับที่ 1 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน รวมทั้งมีจำนวนลูกค้าที่เลือกใช้ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารหลักในการดำเนินธุรกิจ (Main Bank) สูงถึง 28% ซึ่งเป็นอันดับ 1 ในตลาดเช่นกัน

สำหรับปี 2555 ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้ดีที่ระดับ 4.3% โดยจะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี ด้วยแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจดังกล่าว ธนาคารกสิกรไทยจึงตั้งเป้าหมายปี 2555 มีการเติบโตในทุกด้าน ครองความเป็นธนาคารอันดับ 1 ในใจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไทยอย่างต่อเนื่อง วางเป้ารายได้รวมปี 2555 อยู่ที่ 30,700 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2554 ประมาณ 12% ยอดสินเชื่ออยู่ที่ 480,000 ล้านบาท หรือเติบโต 12% พร้อมครองส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 31% ครองอันดับที่ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 รวมทั้งตั้งเป้าสัดส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีเลือกใช้เป็นธนาคารหลักในการดำเนินธุรกิจ (Main Bank) เพิ่มขึ้นเป็น 33%

สำหรับกลยุทธ์สู่การเป็นที่ 1 ในใจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไทย มี 5 ด้าน ได้แก่ ที่ 1 ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของเอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 3 ล้านราย ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มธุรกิจ โดยธนาคารจะคงความเป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินออกสู่ตลาดส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Solutions) และในปีหน้าธนาคารจะมีการออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ๆ ในลักษณะที่เป็นการมุ่งตอบสนองความต้องการผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน (Localize Customer) เพื่อเจาะกลุ่มเอสเอ็มอีในท้องถิ่นทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ที่ 1 กระบวนการอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็ว โดยธนาคารมีกระบวนการอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็วที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ลูกค้าเอสเอ็มอีสามารถรู้ผลอนุมัติสินเชื่อได้ภายใน 48 ชั่วโมงและรับเงินได้ภายใน 5 วัน เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องได้อย่างทันท่วงที ที่ 1 ทีมงานที่มีความรู้และความเข้าใจลูกค้า โดยการพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าที่มีอยู่กว่า 1,400 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ให้เป็นที่ปรึกษาที่เชื่อใจได้สำหรับเอสเอ็มอี (Trusted Advisor) มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องธุรกิจและผลิตภัณฑ์ทางการเงินเป็นอย่างดี สามารถคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ได้และพร้อมให้บริการแก่ลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มศูนย์ธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ (SME Business Center) เป็น 200 แห่ง กระจายทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ เพื่อรองรับการใช้บริการของผู้ประกอบการได้มากยิ่งขึ้น

ที่ 1 เครือข่ายและพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งธนาคารมีเครือข่ายผู้ประกอบการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ผ่านชมรมเครือข่ายนักธุรกิจ K SME Care Network Club ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 7,000 ราย รวมทั้งมีการจัดกิจกรรม Business Matching อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ที่ 1 องค์ความรู้ที่สนับสนุนเอสเอ็มอีในทุกมิติ ผ่านการจัดอบรมภายใต้โครงการ K SME Care ซึ่งดำเนินการเป็นปีที่ 5 และจัดอบรมไปแล้วทั้งสิ้น 15 รุ่น โดยปีหน้าหลักสูตรการอบรมของโครงการ K SME Care เราจะเน้นไปที่เนื้อหาเกี่ยวกับ AEC (ASEAN Economic Community) เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ก้าวไปสู่ AEC ในปี 2558

นายปกรณ์ กล่าวตอนท้ายว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าแม้จะเผชิญปัจจัยลบอยู่บ้างจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤติการเงินในยุโรป ซึ่งจะกระทบต่อภาคการส่งออก และผลจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกปีหน้า แต่จะมีปัจจัยบวกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ อุปสงค์ของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ แรงหนุนจากนโยบายเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นจากรัฐบาล และการลงทุนของภาครัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากเหตุอุทกภัย ซึ่งคาดว่ามูลค่าการลงทุนอาจสูงถึงประมาณ 400,000-500,000 ล้านบาท ในปี 2555

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีในปีหน้า 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมค้าวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็มีความพร้อมในการช่วยเหลือและสนับสนุนการเติบโตของทุกธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วไทย ด้วยกลยุทธ์ทั้ง 5 ด้านดังกล่าว เพื่อเคียงข้างการเติบโตทุกช่วงธุรกิจอย่างยั่งยืนทั่วไทย และมุ่งสู่การเป็นที่ 1 ในใจเอสเอ็มอีทั่วไทย