สพล. ตอบโจทย์กีฬาไทย ด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา มุ่งสู่เจ้าเหรียญทอง

28 Nov 2011

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--กก.

นายสมบัติ คุรุพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(ผช.รมว.กก.) และนายสมพงษ์ ชาตะวิถี อธิการบดีสถาบันการพลศึกษา(อ.สพล.กก.) ร่วมกันแถลงผลงานของสถาบันการพลศึกษา ครั้งที่ 2 ตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ให้หน่วยงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกันแถลงผลงานในทุกวันจันทร์ของแต่ละสัปดาห์ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวาง ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554

นายสมพงษ์ ชาตะวิถี อ.สพล.กก. เปิดเผยว่า สถาบันการพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นสถาบันการศึกษากีฬาชั้นนำ ที่ผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านพลศึกษา กีฬา และสุขภาพ สู่ความเป็นเลิศ ระดับมาตรฐานสากลอย่างยั่งยืน มีวิทยาเขต จำนวน 17 แห่ง และโรงเรียนกีฬา จำนวน 11 แห่ง ทั่วประเทศ

โดยมีผลงานของนักเรียนและนักศึกษาที่สร้างผลงานด้านการแข่งขันกีฬาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการสนับสนุนกีฬาระดับนานาชาติ ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2554 ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยสามารถครองอันดับที่ 2 รองจากประเทศเจ้าภาพ ได้รับเหรียญทอง จำนวน 109 เหรียญ เหรียญเงิน จำนวน 100 เหรียญ เหรียญทองแดง จำนวน 120 เหรียญ โดยทาง สพล. ได้มีส่วนร่วมส่งนักเรียน/นักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันฯ ผลปรากฏว่า ในส่วนของสพล. สามารถร่วมคว้าเหรียญทอง จำนวน 28 คน เหรียญเงิน จำนวน 20 คน เหรียญทองแดง จำนวน 44 คน รวม 92 คน จากส่งไปร่วมแข่งขันฯ 101 คน คิดเป็นร้อยละ 91.09 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ตอบโจทย์ว่าดีมาก และจากเหรียญทั้งหมด 329 เหรียญ คิดเป็นร้อยละ 27.96 จากภาพรวมของประเทศไทย โดยเฉพาะในประเภทกีฬาเรือพาย 16 เหรียญ รองลงมาคือ กรีฑา มวยปล้ำ ยกน้ำหนัก เรือพายยูโด ยิงธนู ยิมนาสติก ปันจักสีลัต เซปักตะกร้อ เปตอง วูซู วอลเลย์บอล บาสเกตบอล มวยสากล ฟินสวิงมิ่ง โดยนักเรียน/นักศึกษาจากวิทยาเขต ที่ได้รับเหรียญรางวัลมากที่สุด คือ วิทยาเขตสุโขทัย 25 เหรียญ รองลงมาคือ วิทยาเขตลำปาง วิทยาเขตชลบุรี วิทยาเขตสุพรรณบุรี โรงเรียนกีฬาอุบลราชธานี วิทยาเขตสมุทรสาคร วิทยาเขตเพชรบูรณ์ วิทยาเขตศรีสะเกษ/กระบี่/กรุงเทพ/ชัยภูมิ/ชุมพร/เชียงใหม่/ตรัง/มหาสารคาม/อุดรธานี ทั้งนี้ทั้งนั้น จะเห็นได้ว่าการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในครั้งนี้ ประเทศเวียดนาม มีการพัฒนาทางการกีฬาที่ค่อนข้างดี เกือบที่จะสามารถครองเหรียญทองมากกว่าประเทศไทย ทั้งนี้ประเทศเวียดนาม ได้อาศัยการฝึกฝนนักกีฬาจากโรงเรียนกีฬาและมหาวิทยาลัยกีฬา ด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนนักกีฬาได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการขับเคลื่อนนักกีฬาจากขั้นพื้นฐานจากโรงเรียนกีฬา สถาบันการพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สู่ระดับนานาชาติ ความเป็นเลิศ และความเป็นอาชีพ ทางสถาบันการพลศึกษา ได้มีส่วนในการผลักดันการนำวิทยาศาสตร์การกีฬา มาพัฒนานักกีฬาตั้งแต่พื้นฐาน มุ่งสู่การเป็นเจ้าเหรียญทองในกีฬาประเภทต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์ให้กับวงการกีฬาไทย ในการสร้างสถิติทางการกีฬา สร้างมาตรฐานการกีฬา และการครองความเป็นหนึ่งแห่งเจ้าเหรียญทอง ในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้จะต้องใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาผลักดัน โดยมีขบวนการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กีฬาระดับพื้นฐานจนถึงกีฬาอาชีพ ในส่วนของสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตและโรงเรียนกีฬาทุกแห่ง มีการนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้เป็นหลักการหลักในการพัฒนานักกีฬาของสถาบันฯ โดยการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์การกีฬา จัดตั้งสถาบันวิชาการกีฬา(Sports Academy)เน้นหนักการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา การจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬานานาชาตินำร่อง 6 แห่ง วงเงินกว่า 30 ล้านบาท(วิทยาเขตสุโขทัย/สุพรรณบุรี/ชลบุรี/มหาสารคาม/กระบี่/ตรัง) การฝึกอบรมบุคลากรทางวิทยาศาสตร์การกีฬาทั้งในประเทศและต่างประเทศ การวิเคราะห์ทางชีวกลศาสตร์/ประสิทธิภาพการแข่งขัน/สรีรวิทยาการออกกำลังกายและเล่นกีฬา/เวชศาสตร์การกีฬา/ชีวเคมีการกีฬา และนำหลักการฝึกพลังกล้ามเนื้อ(Pneumatic Power)ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าต่างประเทศกว่า 5 เท่าตัว/ใช้วิธีการของแรงต้านด้วยอากาศที่มีความสม่ำเสมอ/ลดโอกาส-อาการบาดเจ็บ/ฟื้นฟูสมรรถร่างกายให้แก่นักกีฬาได้รวดเร็ว ให้แก่อาจารย์/เจ้าหน้าที่สถาบันการพลศึกษาและโรงเรียนกีฬาทั่วประเทศ ได้ไปใช้ในการพัฒนา/ปรับปรุงรูปแบบการมุ่งสู่เจ้าเหรียญทองในระดับกีฬาพื้นฐานและความเป็นเลิศอย่างสมบูรณ์แบบเทียบเท่านานาชาติ ทั้งนี้หากหน่วยงานใดหรือประชาชนโดยทั่วไป ต้องลดโอกาส-อาการบาดเจ็บ/ฟื้นฟูสมรรถร่างกายจากการออกกำลังกาย/เล่นกีฬาได้รวดเร็ว ด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขต และโรงเรียนกีฬาได้ทั่วประเทศ

อธิการบดีสถาบันการพลศึกษา กล่าวปิดท้ายว่า นอกจากนี้ ทางสถาบันการพลศึกษา ได้เตรียมจัดส่ง อาจารย์ จำนวน 7 คน(จากวิทยาเขตสุโขทัย อ่างทอง สุพรรณบุรี เชียงใหม่) และนักศึกษา(จากวิทยาเขตสุโขทัย อ่างทอง สุพรรณบุรี) จำนวน 8 คน เข้าร่วมการแข่งขีนกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 12-22 ธันวาคม 2554 ณ เมืองโซโล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ใน 3 ประเภทกีฬา คือ กรีฑา ว่ายน้ำ และวีลแชร์เทนนิส โดยมี พ.อ.อ.ทรัพย์ วิเศษรัมย์ อาจารย์จากวิทยาเขตสุโขทัย เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนโครงการ

จากความสำเร็จที่มีมาต่อเนื่องโดยตลอด ในการผลิตบุคลากรทางด้านกีฬาและนันทนาการ ให้แก่ประเทศชาติในระดับต่างๆอย่างต่อเนื่อง สถาบันการพลศึกษา ก็ไม่ได้ละทิ้งภารกิจทางสังคม(Corporate Social Responsibility - CSR) ในช่วงเกิดอุทกภัย สพล.ได้ส่งนักเรียน นักศึกษา เจ้าหน้าที่ และอาจารย์ ในการช่วยเหลือสังคม และประชาชน ในพื้นที่ประสบภัยเขตกรุงเทพฯ สุพรรรณบุรี อ่างทอง นครสวรรค์ สุโขทัย ขอนแก่น เชียงใหม่ ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดคาราวานบริจาคเครื่องอุปโภค/บริโภคและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และจัดศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วม ณ วิทยาเขตกรุงเทพ รองรับ 2,000 คน โรงเรียนกีฬาขอนแก่น 1,000 คน และวิทยาเขตชลบุรี รองรับกว่า 4,000 คน นอกจากสถาบันการพลศึกษา จะต้องเร่งฟื้นฟูและซ่อมแซมสถานที่/อุปกรณ์กีฬาที่ได้ความเสียหาย มูลค่ากว่า 200ล้านบาท ณ โรงเรียนกีฬานครสวรรค์ โรงเรียนกีฬาอ่างทอง วิทยาเขตกรุงเทพฯ/สุพรรณบุรี/สุโขทัย/อ่างทอง อีกทั้งสถาบันการพลศึกษา ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากร นักเรียน/นักศึกษา/เจ้าหน้าที่/อาจารย์ ในการเข้าสู่การเปิดเสรีอาเซียน(ASEAN Community)ในปี 2558 ทางการศึกษา การกีฬา และนันทนาการ เพื่อการพัฒนาพื้นฐานกีฬาของประเทศไทยที่เข้มแข็ง นำไปสู่ความเป็นเลิศด้านกีฬาในระดับอาเซียน และนานาชาติต่อไป