แผ่นดินไหว ทำไมจึงไหว?

26 Jun 2012

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

แผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้อย่างไร? อาจจะเป็นคำถามที่หลายคนอาจไม่รู้คำตอบ เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียซึ่งก่อให้เกิดคลื่นสึนามิที่สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลต่อชายฝั่งอันดามันในภาคใต้ของไทย ประกอบกับในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กอยู่บ่อยครั้งในหลายจังหวัด คงทำให้ผู้คนตื่นตัวที่จะเรียนรู้และติดตามข่าวสารเกี่ยวกับแผ่นดินไหวเพิ่มมากขึ้น

ก่อนหน้านี้แผ่นดินไหวในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีขาดเล็กถึงปานกลาง และเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก จึงทำให้ประชาชนไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือ และไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแผ่นดินไหว นอกจากนี้การรายงานข่าวเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและความเสียหายจากแผ่นดินไหวตามสื่อต่างๆในปัจจุบันนั้นรวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้าง จึงทำให้เกิดความตื่นเต้นตกใจไปกับกระแสข่าว บางครั้งข้อมูลที่ประชาชนได้รับนั้นอาจจะผิดเพี้ยนไปจากความจริง โดยเฉพาะเมื่อรายงานเกี่ยวกับแผ่นดินไหวเป็นข่าวลือหรือคำทำนาย สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทยจึงให้การสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องสู่ประชาชน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันและเท่าทันกับเหตุการณ์ ก่อนที่เราจะตอบคำถามข้างต้น เราควรทำความรู้จักกับโลกที่เราอาศัยอยู่เป็นอันดับแรก ท่านทราบหรือไม่ว่าโครงสร้างของโลกนั้นเปรียบได้กับไข่ไก่ ส่วนเปลือกโลก (crust) เปรียบได้กับเปลือกไข่มีความหนาเพียง 16-40 กิโลเมตร ไข่ขาวนั้นเปรียบได้กับเนื้อโลก (mantle) ซึ่งเป็นหินร้อนหนืดกึ่งแข็งกี่งเหลวหนาประมาณ 2,900 กิโลเมตร ซึ่งเคลื่อนตัวช้าๆ เป็นกระแสหมุนเวียนอยู่ใต้เปลือกโลก โดยส่วนไข่แดงนั้นเปรียบได้ดังแก่นโลก (core) ซึ่งมีลักษณะเป็นทรงกลมรัศมีประมาณ 3,475 กิโลเมตร เปลือกโลกนั้นเบากว่าเนื้อโลก จึงสามารถลอยตัวและเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ตามกระแสหมุนเวียนของหินหนืดในชั้นเนื้อโลก เปลือกโลกนั้นแยกออกเป็นหลายแผ่น เรียกกันว่าแผ่นเปลือกโลก ซึ่งประกอบด้วย 15 แผ่น สามารถเปรียบเทียบได้กับเกมส์จิกซอว์วางตัวอยู่บนสสารคล้ายของเหลวหนืดๆที่เคลื่อนตัวเป็นกระแสหมุนเวียนทำให้เกมส์จิกซอว์เคลื่อนตัวได้ การคลื่นที่ของหินหนืดและการหมุนของโลกสามารถทำให้แผ่นเลือกโลกเกิดการชนกัน เคลื่อนที่ออกจากกัน หรือเคลื่อนผ่านกันได้

นอกจากนี้ แผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรที่หนักกว่าแผ่นทวีปยังสามารถมุดตัวลงไปใต้แผ่นทวีป เกิดการบีบอัดบริเวณตระเข็มรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกทำให้เกิดรอยเลื่อนจำนวนมาก รอยเลื่อนคือรอยแตกบนเปลือกโลกที่หินหรือดินสองข้างของรอยแตกเลื่อนในทิศทางตรงกันข้าม การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกเช่นนี้หากมีพลังงานสะสมก่อนการเคลื่อนตัวมากจะทำให้เกิดการปลดปล่อยความเครียด(หรือพลังงาน)อย่างฉับพลันเพื่อรักษาภาวะสมดุล ทำให้เกิดคลื่นที่สร้างความสั่นสะเทือนกระจายไปทั่วทุกทิศทาง การสั่นสะเทือนดังกล่าวคือสิ่งที่เราเรียกว่า แผ่นดินไหว

บริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่รายรอบมหาสมุทรแปซิฟิก มีชื่อเรียกว่า วงแหวนไฟ เป็นบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวทั้งขนาดเล็กและใหญ่อยู่เป็นประจำ ประเทศที่อยู่ในเขตวงแหวนไฟ เช่น อินโดเนเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ชิลี จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวสูง ประเทศไทยนั้นโชคดีกว่าหลายประเทศ เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณวงแหวนไฟ การเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยจึงมีน้อยและไม่รุนแรงมาก ล่าสุดแผ่นดินไหวขนาด 8.6 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นที่เกาะสุมาตราเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 ส่งผลกระทบให้รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ที่พาดผ่านอ่าวภูเก็ต-พังงาเกิดการขยับตัว ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.3 ริกเตอร์ ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 และก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 ริกเตอร์ ที่จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2555 นักธรณีวิทยาบางท่านคาดว่าอาจจะเกิดแผ่นดินไหวได้อีกในอนาคต แต่จะเป็นขนาดเล็กถึงปานกลาง คือขนาดไม่เกิน 5.0 ริกเตอร์ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงมากนัก

ในปัจจุบันการเกิดแผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถจะทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ขนาดเท่าใด หรือที่ไหน จะไปยับยั้งไม่ให้เกิดก็ทำไม่ได้ เราควรเรียนรู้ว่าจะอยู่กับภัยธรรมชาติชนิดนี้อย่างไร ประชาชนที่อยู่อาศัยตามแนวรอยเลื่อนในประเทศไทยควรเตรียมตัวรับมือกับแผ่นดินไหว โดยศึกษาแบบอย่างที่ประชาชนในประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตแผ่นดินไหว เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นตัวอย่าง โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกับธรรมชาติของแผ่นดินไหว และศึกษาหลักปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เมื่อเกิดแผ่นดินไหวควรตั้งสติอย่าตกใจ หากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวมีขนาดเล็กและเกิดในระยะสั้น ๆ ไม่กี่วินาทีมักจะไม่สร้างความเสียหาย แต่ถ้าหากการสะเทือนเกิดขึ้นนานเป็นนาทีควรเข้าไปหลบใต้โต๊ะ ถ้าอยู่ชั้นล่างสุดของอาคารควรให้วิ่งออกมายังที่โล่งแจ้ง สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องตั้งสติและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่แนวรอยเลื่อนที่อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวควรหมั่นตรวจสอบและปรับปรุงโครงสร้างของบ้านและสิ่งก่อสร้างให้แข็งแรงพร้อมที่จะรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ หากสิ่งปลูกสร้างมีสภาพแข็งแรงคงทน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวก็ขนาดเล็กถึงปานกลางมักจะไม่ได้รับความเสียหาย หรืออาจจะได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย

แผ่นดินไหวคงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทยอีกต่อไปแล้ว เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ ให้ได้ ในตอนหน้า เราจะทำอย่างไร เมื่อเกิดแผ่นดินไหว? ร่วมค้นหาติดตามคำตอบในคอลัมภ์ ธรณี มีคำตอบ ในตอนต่อไป…..

สนับสนุนโดย สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

-กผ-