สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงเปิดงานแห่งประวัติศาสตร์ของไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุด “งานประชุมใหญ่โรตารีสากล ประจำปี ๒๕๕๕”

09 May 2012

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นประธานเปิดงานประชุมใหญ่โรตารีสากล ประจำปี ๒๕๕๕ ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ ๖–๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕ จัดโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ในนามของรัฐบาล ร่วมกับสโมสรโรตารีประเทศไทย โดยมีสมาชิกโรตารีหรือโรแทเรียนเข้าร่วมประชุมกว่า ๓๘,๐๐๐ คน จากกว่า ๑๖๐ ประเทศทั่วโลก ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี

เปิดฉากแล้วอย่างยิ่งใหญ่สำหรับ งานประชุมใหญ่โรตารีสากล ประจำปี ๒๕๕๕ งานประชุมนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดที่มาจัดในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนเพื่อให้งานนี้เป็นงานแห่งประวัติศาสตร์ของไทยที่มีความยิ่งใหญ่และสมบูรณ์แบบ และจะเป็นเวทีการประชุมครั้งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยในฐานะประเทศจุดหมายปลายทางด้านการจัดประชุมระดับนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ประชาสัมพันธ์ความพร้อมของประเทศในมิติของการประชุมและการท่องเที่ยววัฒนธรรมของชาติ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและเอกชนกว่า ๓๐ หน่วยงาน ระดมสรรพกำลังมาช่วยอำนวยความสะดวกและให้การต้อนรับคณะผู้ประชุมที่เดินทางมาจากทั่วโลก

งานประชุมใหญ่โรตารีสากลในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๐๓ นับเป็นวาระสำคัญของสมาชิกโรตารีทั่วโลกที่จะมาประชุมเป็นประจำทุกปี โดยจัดหมุนเวียนไปในประเทศต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันระหว่างประเทศในการบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งจะได้มาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความรู้ และประสบการณ์ในการบำเพ็ญประโยชน์ให้กับผู้ด้อยโอกาสทั่วโลก โดยกิจกรรมส่วนใหญ่ในงานจะเน้นการสร้างสรรค์ แสดงไมตรีจิตและมิตรภาพ ซึ่งล้วนเป็นปรัชญาสำคัญของสโมสรโรตารีสากล

สำหรับกิจกรรมหลักที่จัดขึ้นในการประชุมใหญ่โรตารีสากลเป็นประจำทุกปี ได้แก่ กิจกรรมการประชุมของโรแทเรียนในแต่ละกลุ่มและภาค และ กิจกรรมการจัดแสดงโครงการบำเพ็ญประโยชน์ ของโรตารี ทั่วโลกกว่า ๑๐๐ บูธ ที่มุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาในด้านการขจัดโรคโปลิโอ โรคมาลาเรีย ความยากจน ความ หิวโหย การไม่รู้หนังสือ ปัญหามลพิษ และปัญหาขาดแคลนน้ำของโลก รวมทั้ง กิจกรรรมการกล่าวปาฐกถาของบุคคลเกียรติยศ อาทิ เอ็มมานูแอล จาล อดีตทหารเด็กชาวซูดานผู้ผันตนกลายมาเป็นนักรณรงค์เพื่อสันติภาพ อังเจลลีค คิดโจ นักร้องนักแต่งเพลงเจ้าของรางวัลแกรมมี่และนักรณรงค์เพื่อสันติภาพ ลีมาห์ กอบวี นักต่อสู้เพื่อสันติภาพชาวไลบีเรียและผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี ๒๕๕๔ ฮิวจ์ อีวานส์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Global Poverty Project ที่ทุ่มเทชีวิตให้กับการช่วยเหลือผู้อื่นและมีชื่อเสียงระดับโลกด้านการสนับสนุนการพัฒนาดร.มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี ๒๕๔๙ และ ดร.โฮเซ่ รามอส ฮอร์ต้า ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ตะวันออกและผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี ๒๕๓๙

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่เป็นวาระพิเศษสำหรับในปีนี้ คือ การประกาศความสำเร็จในการระดมทุนโครงการโปลิโอพลัส ครบ ๒๐๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของชาวโรแทเรียนทั่วโลก ซึ่งจะใช้เป็นทุนรณรงค์การขจัดโรคโปลิโอให้หมดสิ้นไปจากโลก และยังได้รับเงินบริจาคสมทบทุนเพิ่มจากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ อีก ๔๐๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับกิจกรรมที่ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้จัดเตรียมเพื่อต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกจัดขึ้นในคอนเซ็ปต์ ดินแดนแห่งพันรอยยิ้ม (The Land of Thousand Smiles) เพื่อสื่อถึงความมีไมตรีของคนไทย และการที่ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งรอยยิ้มและมิตรภาพที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือน โดยมี น้องยิ้มกับน้องแย้ม ซึ่งเป็นเด็กชายและเด็กหญิงในชุดโจงกระเบนเป็นพรีเซนเตอร์ประจำงาน รวมทั้งมี การสร้างรอยยิ้มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (Thailand’s Biggest Smile) ด้วยการใช้คนจำนวน ๒,๐๑๒ คน เป็นส่วนหนึ่งของรอยยิ้ม ซึ่งจะมีการบันทึกสถิติโดย Ripley’s Believe it or not และยังมี บ้านมิตรภาพ (House of Friendship) ที่ตกแต่งด้วยดอกไม้สดหลายประเภทจากโครงการดอยตุงคอยต้อนรับผู้ร่วมประชุม

ในส่วนของกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ได้มีการแสดงจากเหล่าศิลปินที่มีชื่อเสียงและศิลปินเกียรติยศมากมาย อาทิ การแสดงคอนเสิร์ตจากทาทา ยัง นักร้องชื่อดังของไทยที่มาร้องบทเพลงที่แต่งเพื่อการประชุมในครั้งนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งการแสดงละครเพลงเยาวชนเรื่อง a boy and a tiger จากฝีมือการฝึกสอนโดยอาจารย์ บรูซ แกสตัน ศิลปินศิลปาธรเกียรติคุณ ประจำปี ๒๕๕๒ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก-กภ-