“นราธิวาส” กับเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกฯ – ก้าวที่กล้าเพื่อช่วยเด็กคลอดก่อนกำหนด

10 Oct 2012

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สปินเ์ลอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์

จังหวัดนราธิวาส – จังหวัดที่ห่างไกล เป็น 1 ใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบ นอกจากความไม่สงบแล้ว “นราธิวาส”ยังมีปัญหา อัตราการเสียชีวิต “ทารกคลอดก่อนกำหนด”สูงเป็นอันดับที่หนึ่งของประเทศ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์จนถึงระยะคลอด เช่นเดียวกับ

นางซูฮัยนิง แวหะมะ ที่คลอดลูกก่อนกำหนด ต้องเผชิญกับภาระต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว “หนูมีลูกหลายคน มีปัญหาครอบครัว สามีต้องเดินทางไปทำงานที่มาเลเซีย ไป 3 เดือน ส่งมาให้แค่ 500 บาท ลูกคนล่าสุดคลอดก่อนกำหนด คุณหมอที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์บอกว่าเป็นโรคหลายอย่าง ภาระค่าใช้จ่าย ค่านม ค่ากิน ค่ารักษา ค่าเดินทางไม่มีเลย เดือดร้อนมาก เดินทางไปโรงพยาบาลก็ไกล และไม่มีค่ารถอีก ไม่รู้จะทำอย่างไร”

นอกจากคนไข้ที่มีปัญหาแล้ว คุณหมอก็มีปัญหาหนักไม่น้อย นพ. เจ๊ะอิดเร๊ะ ดือเร๊ะ นายแพทย์เชี่ยวชาญสูติกรรม หัวหน้ากลุ่มงานสูตินรีเวช โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ได้กล่าวถึงปัญหาว่า “อุปกรณ์บางอย่างเริ่มสึกหรอ ช่างไม่กล้ามาซ่อมเพราะกลัวปัญหาความไม่สงบ บางทีสั่งเครื่องมือเขาจะส่งแค่หาดใหญ่ เราต้องไปรับเอง ตอนนี้ที่ต้องการคือ อุปกรณ์ช่วยชีวิต และอุปกรณ์ผ่าตัด เป็นต้น”

โดย แพทย์หญิงอมรา ดือเร๊ะ แพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม ได้เปิดเผยว่าการสะสมของปัญหาทำให้รอไม่ได้ที่จะให้ใครมาช่วย ต้องวิ่งหาตัวช่วย พร้อมเปิดเผยตัวเลขในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสว่า ใน พ.ศ. 2552 พบทารกวิกฤต 598 ราย พ.ศ. 2553 เพิ่มเป็น 819 ราย พ.ศ. 2554 สูงขึ้นเป็น 1,051 ราย และล่าสุดในปีนี้ มีจำนวนสูงถึง 1,081 ราย ทำให้ตั้งรับอย่างเดียวไม่ได้ ส่งบุคลากรไปเรียนก็ไม่ทัน จะซื้ออุปกรณ์การแพทย์เพิ่มก็ยาก บางกรณีงบประมาณที่เสียสูงสุดในทารกหนึ่งรายคือ 100,000 บาท

ประเด็นทางสังคมนี้สะท้อนความเป็นจริงในพื้นที่หลายด้าน ซึ่ง นพ.วิรุฬห์ พรพัฒน์กุล ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ระบุว่าสิ่งดังกล่าวเชื่อมโยงไปถึงระดับสติปัญญารวมทั้งสุขภาพของทารกที่ไม่สมบูรณ์ และภาระแฝงที่เกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มนี้ในอนาคตอีกมากมาย

สถานการณ์เช่นนี้นำมาสู่การตัดสินใจเข้าร่วม “โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ที่มี รศ.นพ.ธราธิป โคละทัต และนางสาวจันทิมา จรัสทอง เป็นผู้ดูแล

สิ่งสำคัญคือ โครงการเครือข่ายฯ ไม่ได้ให้เนื้อเงิน แต่ให้แนวคิดใหม่ การบริหารจัดการ ความรู้ และวิชาการจากตำราที่นำมาปรับใช้ร่วมกับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการทำโครงการเครือข่ายฯ รวมทั้งการที่ผู้ดูแลโครงการฯ มาช่วยให้คำปรึกษา ชี้ให้เห็น แก้ได้ตรงจุด ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา

ในระยะแรกของการแก้ปัญหา สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องการคือ สูติแพทย์ กุมารแพทย์เห็นตรงกัน ตลอดจนได้รับความร่วมมือที่ดีจากกลุ่มพยาบาล พร้อมๆกันนั้นก็มีความพยายามส่งต่อความรู้ให้กับประชาชนแต่อาจยังไม่ถึงระดับรากหญ้า ที่เราลงไปไม่ถึง

ช่วงหลังพอเข้าโครงการฯ หลายฝ่ายมาช่วยกันแก้ปัญหา “อาสามัครหมู่บ้าน”(อสม.) มาช่วยนำความรู้ไปสู่ชุมชนโดยมี “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล”(รพสต.) เป็นฐานปฏิบัติงาน มีเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการอบรมมาช่วยรับฝากครรภ์ และมี”โต๊ะบีแดร์” หรือ“หมอตำแย” ซึ่งคนพื้นที่เคารพนับถือเข้ามาเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลโน้มน้าวให้คนไข้มาฝากครรภ์ และดูแลตัวเอง

ในกรณีฉุกเฉิน ชาวบ้านที่บ้านไกล เดินทางมาไม่สะดวก หรือ จะคลอดกะทันหัน”โต๊ะบีแดร์” เครือข่ายของเราต้องอยู่กับเขา โทรรายงานตลอด หากมีอาการหนัก โรงพยาบาลนราธิวาสจะส่งรถ “อีเอ็มเอส” หรือ “รถฉุกเฉิน”ไปรับ ซึ่งเป็นแห่งแรกที่นำ “รถอีเอ็มเอส” มาใช้ในงานอนามัยแม่และเด็ก

เรื่องรักษาโรคก็สร้างมาตรฐานของเรา แต่เพิ่มเติมเชิงรุก โดยให้ความรู้ตั้งแต่วัยรุ่น นอกจากนั้น ยังใช้การอบรมก่อนสมรสของชาวมุสลิมควบคู่ไปด้วย ตัวเลขทารกเกิดก่อนกำหนดของประเทศจะอยู่ ราวๆ 6-7% แต่ตอนนี้เราอยู่ที่ 4% บางช่วงลดมาถึง 2% ก่อนที่ยังไม่มีโครงการฯ อายุครรภ์ที่คลอด 30 สัปดาห์ (7.5 เดือน) เราพยายามที่จะให้ตั้งครรภ์เกิน 34 สัปดาห์ (8.5 เดือน) ซึ่งพอเลี้ยงให้โตได้ไม่ลำบาก เราอยากเห็นทารกเกิดก่อนกำหนดที่เลี้ยงโตโดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ไม่ติดเชื้อ โดยเฉพาะอันตรายต่อ จอประสาทตาซึ่งยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ หากยื้อได้เกิน 34 สัปดาห์ เด็กจะปลอดภัยจริงๆ อยากให้อายุครรภ์มากกว่านี้ เพราะเด็กจะมีคุณภาพมากขึ้น

“ค่าใช้จ่ายภาครัฐก็ลดลง เชื่อว่าถ้าเราทำงานป้องกันดีๆ โอกาสและความเสี่ยงต่างๆ ก็จะลดลง ดีกว่า ที่จะมาจัดซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาแพงแต่อย่างเดียว ค่าใช้จ่ายก็สูง เหนื่อยทุกฝ่าย และขยายไปไม่สิ้นสุด สิ่งที่ พวกเราต้องการจากโครงการฯ คือ แผนยุทธศาสตร์ หมายถึง การชกอย่างมีเป้าหมาย ทำให้เกิดผลงานที่ดี” นพ. เจ๊ะอิดเร๊ะ ได้อธิบายถึงประเด็นสำคัญที่ทำให้งานบรรลุสู่เป้าหมายจากความช่วยเหลือของโครงการฯ

แพทย์หญิงเพ็ญแข แดงสุวรรณ สูตินรีแพทย์โรงพยาบาลนราธิวาส ได้พูดถึงเรื่องสูติแพทย์เชิงรุกว่า “แต่ก่อนหมอได้แต่สอนแพทย์และพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาลนราธิวาส คนไข้บางรายเข้ามาขณะที่โรคมีอาการรุนแรงแล้ว ต้องรีบช่วยคลอดเพื่อช่วยชีวิตทั้งแม่และลูก ไม่มีทางเลือกอื่น แต่ปัญหาเหล่านี้ ยังเกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง จึงตัดสินใจมาทำงานเชิงรุกที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกเคียน “ช่วงแรกเหนื่อยมากเพราะเป็นงานเพิ่ม แต่พอพบว่าหญิงทุกคนมาฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ และได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขเป็นอย่างดี ปัญหาต่างๆ ที่พบก็เริ่มลดน้อยลง คนไข้ดีใจที่ไม่ต้องเดินทางไปรักษาในจังหวัดนราธิวาส” คุณหมอเพ็ญแข กล่าวด้วยความสุข และความภาคภูมิใจ

สมัยก่อน เครื่องมือมีจำกัด ต้องส่งต่อคนไข้ออกไปหาดใหญ่ สงขลา เยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีการส่งออกแล้ว ดูแลเองหมด ญาติดีใจมาก เพราะไม่เพิ่มภาระและความยากลำบากในการมาเฝ้าเยี่ยม ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่ส่งคนไข้มาให้เรารักษา

“สิ่งที่ดิฉันมองลึกถึงสิ่งที่ได้รับจากโครงการคือ มองปัญหาเป็น วิเคราะห์ปัญหาได้ แก้ปัญหาได้ ถูกจุด ผลลัพธ์ออกมาดีขึ้น ทำเชิงรุกมันต้องใช้เวลา แต่มีผลในระยะยาว เอาตัวเลขมาดูได้เลย แล้วบอกว่า ทุกรายที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของเราทุกคน เราทำได้ ทุกคนก็หัวใจพองโต ทำงานมีความสุข เหนือสิ่งอื่นใดประชาชนจะมีสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ” แพทย์หญิงอมรา พูดด้วยความหวังและมีความสุข

นางสุนีย์ มะรือสะ กำลังตั้งครรภ์และอายุมาก 37 ปีแล้วคุณหมอก็บอกว่าจะเสี่ยงกับโรคต่างๆ รวมทั้งการคลอดก่อนกำหนด กลัว มาฝากท้องที่ “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล”(รพสต.)โคกเคียน ไม่ต้องเดินทางเข้าไปที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เพราะคนไข้เยอะ รอคิวนาน ไปแต่ละครั้งเสียเวลาทั้งวัน ลางานบ่อยก็ไม่ได้ เดี๋ยวนี้“โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล”(รพสต.) ให้บริการทั้งก่อนและหลังคลอด ติดตามเรื่องจนมั่นใจว่าสุขภาพแข็งแรงดีทั้งแม่และเด็ก คุณหมอ พยาบาลก็ดีมาก

ส่วนหนึ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มากคือ การทำสื่อให้ความรู้แก่คนในชุมชน แต่ชาวบ้านบางคนอ่านหนังสือภาษาไทยไม่ออก ถ้ามีสื่อเป็นภาษาท้องถิ่น จะช่วยคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น นี่เป็นส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนที่มาจากชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ มีอัตราการเสียชีวิตของแม่และทารก จากการคลอดก่อนกำหนดสูงแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายที่เราได้ยินได้ฟังมาจากการลงพื้นที่กับ รศ. นพ.ธราธิป โคละทัต ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

-กผ-