กรีนพีซรณรงค์ “ การปล่อยมลพิษให้เหลือศูนย์ “ : แหล่งน้ำ..ไม่ใช่ที่รองรับมลพิษ

24 Sep 2012

กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--กรีนพีซ

วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็นวัน“อนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ” กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับ 8 ชุมชนริมคลองสำโรง ต.บางพลีอ. บางพลี จ.สมุทรปราการ จัดโครงการ“คืนชิวิตสู่ลำคลองคืนสายน้ำสู่ชุมชน” เพื่อรณรงค์ตลอดลำคลองและลาดตระเวนเฝ้าระวังมลพิษเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาวิกฤตแหล่งน้ำเสื่อมโทรมซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันยุติการนำแม่น้ำลำคลองมาเป็นที่รองรับการระบายน้ำเสีย และเร่งฟื้นฟูแหล่งน้ำให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้

วัตถุประสงค์ของโครงการนี้เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนริมคลองร่วมกันปกป้องรักษาและฟื้นฟูแหล่งน้ำของตน และรับรู้ถึงสิทธิของชุมชนในการรับรู้ข้อมูลด้านมลพิษ ชุมชนได้รณรงค์ให้ทุกคนร่วมกันเฝ้าระวังผู้ก่อมลพิษและเรียกร้องทุกภาคส่วนให้ร่วมกันยุติการปล่อยมลพิษลงแหล่งน้ำ หน่วยศึกษาเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำ กรีนพีซ ยังได้เก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินเพื่อวิเคราะห์ศึกษาสถานการณ์มลพิษในพื้นที่เพื่อเป็นข้อมูลให้ชุมชนด้วย

“หลายชุมชนเริ่มแสดงพลังต่อสู้กับผู้ก่อมลพิษ แหล่งน้ำหลายแห่งของประเทศเสื่อมโทรมลง จนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จากการที่ต้องเป็นที่รองรับน้ำเสีย ปัญหาที่น่าห่วงคือสารพิษที่ถูกปล่อยมาพร้อมกับน้ำทิ้งจากโรงงานซึ่งทำให้เกิดการสะสมของสารพิษในแม่น้ำลำคลองและห่วงโซ่อาหาร และชุมชนย่อมได้รับผลกระทบ” พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คลองสำโรงเป็นคลองขุดเชื่อมต่อระหว่างฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบางปะกง มีระยะทางยาว 55 กิโลเมตร ตลอดริมคลองสำโรงสองฝั่งมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 243 แห่ง ซึ่งปล่อยน้ำเสียที่มีความสกปรกลงสู่ลำคลองจำนวนมหาศาลต่อปี

การศึกษาของกรีนพีซ (1) ในปี พ.ศ. 2553-2554 พบสารเคมีอันตรายหลายชนิดในคลองสำโรงฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่นมากที่สุด และพบการสะสมของโลหะหนักหลายชนิดในตะกอนดินในระดับที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ขณะที่คลองสำโรงบริเวณตำบลบางพลียังคงอยู่ในสภาพพอใช้ สืบเนื่องจากที่ชุมชนช่วยกันดูแลจนสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น การทำแปลงเกษตรลอยน้ำ จับปลา และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

“ชุมชนบางพลีริมคลองสำโรงและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำมาหลายปี มีการรณรงค์ภายในชุมชน ร่วมกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ และส่งเสริมการท่องเที่ยวในลำคลองแต่ก็ยังต้องทำกันอีกมาก มลพิษยังไม่หมดไป และชุมชนก็ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษในลำคลอง สารเคมีต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำเสีย ซึ่งอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ เพื่อการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาที่ทันท่วงที” นางสาวนกแก้ว กลัดบุบผา ประธานชุมชนรักประชา เทศบาลตำบลบางพลี กล่าว

หน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เริ่มโครงการรณรงค์ปกป้องแหล่งน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2250 ซึ่งได้มีการศึกษาตรวจสอบการปนเปื้อนสารพิษและสถานการณ์มลพิษในแหล่งน้ำของประเทศหลายบริเวณ และรณรงค์ภาครัฐในการแก้ปัญหาโดยให้มีนโยบายด้านการเปิดเผยข้อมูลมลพิษและการยุติการใช้และปลดปล่อยสารเคมีอันตราย(2)

“ภาครัฐควรมีการฟื้นฟูแหล่งน้ำที่เสื่อมโทรม เช่นการขุดลอกคูคลอง ปรับปรุงภูมิทรรศน์ และเข้มงวดในการติดตามเฝ้าระวังและบังคับใช้กฏหมายกับผู้ก่อมลพิษ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมควรตั้งเป้าหมายในการปล่อยมลพิษประเภทสารเคมีอันตรายให้เหลือศูนย์ และเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงข้อมมูลดังกล่าว” พลาย ภิรมย์ กล่าวทิ้งท้าย ข้อมูลเสริม -

(1) รายงาน รวมผลการศึกษากรีนพีซเกี่ยวกับการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในระบบนิเวศบริเวณแหล่งประกอบอุตสาหกรรมภาคกลางระหว่างปีพ.ศ. 2546- พ.ศ. 2554 http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/A-Summary-Report-of-Greenpeace-study-on-water-pollution-in-Thailand-2003-2012/

(2) กรีนพีซได้เสนอให้ภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลควรเร่งออกมาตรการดังนี้ - จัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและกำหนดให้มีระยะเวลาในการดำเนินการควบคุมและเลิกใช้ - ประกาศตั้งเป้าหมายและแผนปฏิบัติงานเพื่อลดการปล่อยสารเคมีอันตรายให้เหลือศูนย์ - ร่วมกับหน่วยราชการอื่นๆ เช่นกรมควบคุมมลพิษเพื่อทำการฟื้นฟูทำความสะอาดแหล่งน้ำทั่วประเทศที่ได้รับการปนเปื้อน - ให้การสนับสนุนโรงงานในด้านต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การลดการใช้ และปลดปล่อยสารเคมีอันตราย รวมถึงการทดแทนการใช้ด้วยสารเคมีที่ปลอดภัย

กรีนพีซทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธีนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ -นท-