ACIIA 2012 จัดงานประชุมสัมมนาใหญ่ มั่นใจผู้ตรวจสอบภายในของไทย พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เผยภาคธุรกิจมีความต้องการสูง

28 Sep 2012

กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--สมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย

สตท. ร่วมกับสมาคมผู้ตรวจสอบภายในภูมิภาคเอเชียจาก 16 ประเทศ จัดประชุมสัมมนา ผู้ตรวจสอบภายในภาคพื้นเอเชีย ประจำปี 2555 เตรียมความพร้อมผู้ตรวจสอบภายในของไทย เน้นการพัฒนาวิชาชีพ ทักษะ สร้างความแข็งแกร่ง สตท. เชื่อมั่นผู้ตรวจสอบภายในของไทยสามารถแข่งขันได้เพราะมีมาตรฐานในการทำงาน และเข้าใจสภาพแวดล้อมธุรกิจได้ดี

นายสุวรรณ ดำเนินทอง รักษาการนายกสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย (สตท.) และประธานคณะกรรมการจัดงานประชุมสัมมนาฯ เปิดเผยถึงการจัดงานประชุมสัมมนาผู้ตรวจสอบภายในภาคพื้นเอเชีย ประจำปี ค.ศ.2012 หรือ 2012 Asian Confederation of Institutes of Internal Auditors Conference (ACIIA Bangkok 2012) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2555 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่าสมาคมผู้ตรวจสอบภายในประเทศไทยในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง The Asian Confederation of Institute of Internal Auditors (ACIIA) ที่ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งหมด 16 ประเทศนั้น ได้รับเกียรติจาก ACIIA ให้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาดังกล่าว เพื่อเป็นการกระตุ้นให้องค์กรภาครัฐและเอกชนเห็นความสำคัญของการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบภายในเพิ่มมากขึ้น และอีกทั้งยังเป็นโอกาสสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดการประชุมสัมมนาผู้ตรวจสอบภายในภาคพื้นเอเชีย ประจำปี ค.ศ.2012 อีกด้วย

การจัดงานประชุมภายใต้ชื่อ สุดยอดงานประชุมสมาพันธ์ผู้ตรวจสอบภายในแห่งอาเซียน ปี 2555 (2012 ASIAN CONFEDERATION OF INSTITUTES OF INTERNAL AUDITORS CONFERENCE) ชื่อย่อ “ACIIA BANKOK 2012” ในครั้งนี้ จะเป็นการรวมตัวของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับสากลและระดับภูมิภาค และผู้เข้าสัมมนา ซึ่งเป็นระดับผู้บริหารและผู้ตรวจสอบภายในมืออาชีพจากทั่วทั้งภูมิภาคเอเซีย โดยไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้ คือความน่าสนใจในหลายหัวข้อ ได้แก่ การเปิดผยผลงานการวิจัยของประเทศเกาหลีใต้ ในหัวข้อ HUMAN RISK ASSESSMENT FOR THE BEST CORPORATE GOVERNANCE” เราจะได้เห็นวิวัฒนาการของการประเมินความเสี่ยงขององค์กรเพื่อสร้างการกำกับดูแลที่ดี โดยเน้นไปที่ตัวบุคลากรในองค์กร

หัวข้อ SAY IT RIGHT การนำเสนอทิศทางของวิชาชีพผู้ตรวจสอบภายใน จะเดินต่อไปอย่างไร โดยประธานกรรมการ สมาคมผู้ตรวจสอบภายในสากล ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหัวข้อที่ทั้งผู้บริหาร และผู้ตรวจสอบภายในควรตระหนัก และหัวข้อ “AUDITING BCP AND DISASTER RECOVERY’ โดยประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประสบปัญหาภัยพิบัติ สถานการณ์น้ำท่วม เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ แต่มีความสามารถรับมือ มีแนวทางการชดเชย และการแก้ไขปัญหาที่ทั่วโลกยอมรับ และหัวข้ออื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย

การสัมมนานี้ จึงเป็นโอกาสทางด้านวิชาชีพ และด้านความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ระหว่างผู้บริหาร และผู้ตรวจสอบภายใน โดยการประชุมจะแบ่งหัวข้อการสัมมนาเป็น General Session จำนวน 6 Session ซึ่งจะนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับทิศทางของงานตรวจสอบภายในในภาพรวม การประเมินความเสี่ยงด้านบุคลากรเพื่อให้องค์กรเกิดการกำกับดูแลที่ดี ความสำคัญของจรรยาบรรณต่อการปฏิบัติงานตรวจสอบและองค์กร การจัดการความเสี่ยงที่จะสร้างมูลค่าให้กับองค์กร การตรวจสอบแผนสำรองการดำเนินธุรกิจในสภาวะฉุกเฉินหรือประสบภัยพิบัติ รวมถึงแนวโน้มงานตรวจสอบภายในในอนาคต นอกจากนี้ก็ยังมี session ย่อย แบ่งออกเป็น track ตามความสนใจของ ผู้เข้าสัมมนาอีก 5 track ซึ่งผู้เข้าสัมมนาสามารถเลือกเข้าได้ตามความต้องการ คือ 1) การป้องกันและตรวจสอบการทุจริต 2) Information Technology 3) Corporate Governance และ Governance Risk and Control 4) การบริหารความเสี่ยง 5) ทักษะและความสามารถของผู้ตรวจสอบภายในที่จำเป็น ซึ่งหัวข้อย่อยนี้มีทั้งสิ้น 20 session บรรยายโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง อินเดียและไทย ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าสัมมนาได้เห็นมุมมอง และรับทราบความเป็นไปของสภาพธุรกิจ สังคม และวิชาชีพของแต่ละประเทศได้ชัดเจนมากขึ้น

“The Asian Confederation of Institute of Internal Auditors (ACIIA) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1999 โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย ( สตท. : The Institute of Internal Auditors of Thailand – IIAT) กับสมาคมผู้ตรวจสอบภายในในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวม 16 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี และสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เพื่อเผยแพร่มาตรฐานวิชาชีพตรวจสอบภายในและแนวทางการปฎิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายในระดับสากลให้เป็นที่แพร่หลายและยอมรับในภูมิภาคเอเซีย รวมทั้งเพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ข่าวสารวิชาด้านการตรวจสอบภายในระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทาง ACIIA จึงได้กำหนดให้มีการจัดสัมมนาให้กับผู้ตรวจสอบภายในในภาคพื้นเอเซีย โดยให้ประเทศสมาชิกหมุนเวียนเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในปี 2012 นี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมฯ”

ปัจจุบันผู้ตรวจสอบภายในของประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนต่างเร่งพัฒนา และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยบางประเทศ อาทิ สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ ได้มีการตื่นตัวและเตรียมความพร้อม ผู้ตรวจสอบภายในของตนมาก่อนแล้ว ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ตรวจสอบภายในในประเทศสอบรับวุฒิบัตรผู้ตรวจสอบภายในรับอนุญาตสากล หรือ Certified Internal Auditor (CIA) ซึ่งเป็น Global Professional Certification Program ทำให้ปัจจุบันมี CIA มากกว่าพันคนแล้ว ในขณะที่เวียดนาม ลาวและพม่า ก็ติดต่อสมัครสอบรับวุฒิบัตร CIA กับทางสมาคมฯ อยู่เรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าแต่ละประเทศมีความตื่นตัวในด้านงานตรวจสอบภายใน และพยายามให้มีวุฒิบัตรที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อเป็นใบเบิกทาง หรือสร้างโอกาสที่จะไปทำงานในประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น

นายสุวรรณยังเปิดเผยถึงบทบาทหน้าที่ของสมาคมฯ ในการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานผู้ตรวจสอบภายในของไทยว่า สมาคมฯ มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ตรวจสอบภายในให้มีทักษะความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานมากขึ้น โดยเน้นเป็นพิเศษในเรื่องการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพตรวจสอบภายใน เพราะเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ผู้ตรวจสอบภายในสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ตรวจสอบภายในไทยสอบรับวุฒิบัตรผู้ตรวจสอบภายในรับอนุญาตสากล หรือ CIA ซึ่งเป็นวุฒิบัตรวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลให้ได้มากที่สุด เพราะปัจจุบันองค์กรใหญ่ๆ หรือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างให้ความเชื่อมั่นว่า CIA จะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้องค์กร รวมถึงปัจจุบันมีองค์กรกำกับดูแลหลายแห่งที่ให้ความสำคัญ และให้คะแนนประเมินแก่องค์กรที่มี CIA ดังนั้น การมีวุฒิบัตรก็จะเป็นโอกาสให้ผู้ตรวจสอบภายในได้งานที่มั่นคง เป็นที่ต้องการ และได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ในประเทศไทยมี CIA เพียง 349 คน แต่มีบริษัทจดทะเบียนกว่า 500 บริษัท ซึ่งยังไม่เพียงพอ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ มี CIA มากกว่าเราเยอะ และเมื่อเปิดเสรีแล้ว CIA จากประเทศต่างๆ จะสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ เมื่อ CIA คนไทยมีจำนวนน้อย องค์กร หรือบริษัทใหญ่ก็อาจจะให้โอกาส CIA จากประเทศอื่นๆ เข้าทำงาน โอกาสที่ตำแหน่งสูงๆ ในสายงานตรวจสอบภายในจะเป็นของ CIAจากประเทศต่างๆ ก็มีอยู่มาก แต่สมาคมฯ ยังอยากเห็นผู้บริหารหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือ Chief Audit Executive ของบริษัทในประเทศไทยเป็นคนไทย

ทั้งนี้ คุณสุวรรณยังมองว่า จุดแข็งของผู้ตรวจสอบภายในของไทยนั้นจะอยู่ที่การปฏิบัติงานที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีความเข้าใจในสภาพแวดล้อมธุรกิจ และเข้าใจในวัฒนธรรมการทำงานแบบไทยเป็นอย่างดี การสอบถามใดๆ ก็มักจะเป็นไปแบบละมุนละม่อม ทำให้การปฏิบัติงานมักจะได้รับความร่วมมือที่ดี โดยยังคงความสัมพันธ์และความรู้สึกที่ดีๆ ให้กับผู้รับตรวจ และทำให้เกิดการยอมรับที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะถือเป็นคุณลักษณะเฉพาะของผู้ตรวจสอบคนไทย นอกจากนี้คนไทยยังมีความสามารถในการปรับตัวสูง จึงเชื่อว่าจะสามารถทำงานในองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานแบบ Multi cultural ได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม ทักษะสื่อสารด้านภาษาอังกฤษก็เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ตรวจสอบภายในของไทยต้องเร่งพัฒนา เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ทัดเทียมกับผู้ตรวจสอบภายในจากประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันผู้ตรวจสอบภายในรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ก็มีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษดีมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันวิชาชีพตรวจสอบภายในเป็นวิชาชีพอิสระ และยังไม่มี พรบ.รองรับเหมือนวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งในอนาคตหากมี พรบ. มารองรับ ก็น่าจะเกิดผลดีทั้งกับวิชาชีพและผู้ปฏิบัติงานด้วย ในอนาคตเมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียน การแข่งขันด้านวิชาชีพนี้จะสูงขึ้น เพราะผู้ตรวจสอบภายในจากประเทศอื่นๆ จะสามารถเข้ามาทำงานได้ บริษัทหรือองค์กรใหญ่ก็จะมีทางเลือกในการรับสมัครตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในมากขึ้น ผู้ตรวจสอบภายในของไทยจึงต้องพัฒนาตนเองเพื่อก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงทางด้านวิชาชีพและพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษมากขึ้น ส่วนผู้ตรวจสอบภายในที่มีวุฒิบัตรแล้วก็จะสามารถโยกย้ายไปทำงานในประเทศอื่นๆ ที่ให้ค่าตอบแทนสูงขึ้นได้ง่ายขึ้นได้เช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ตรวจสอบภายในที่มีวุฒิบัตร CIA จะต้องมีการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง และต้องรายงานการสะสมชั่วโมงการพัฒนาวิชาชีพ หรือ Continuing Professional Education เรียกว่า ชั่วโมง CPE เป็นประจำทุกปี เพื่อรักษาสถานภาพ CIA ตามข้อกำหนดของสมาคมผู้ตรวจสอบภายในสากล ผู้ที่ไม่รายงาน หรือรายงานไม่ครบจำนวน จะถูกพักสถานภาพ จนกว่าจะสะสมจำนวนชั่วโมง และรายงานได้ครบตามข้อกำหนดการรายงานการสะสมชั่วโมง CPE

เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ในนาม สมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย (สตท.)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณภาวินี ชนะพลชัย โทร 02-946-8470-2 ตัวแทนที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net