ตลาดตราสารหนี้ (BEX) พร้อมเป็นตลาดรอง เพิ่มสภาพคล่องพันธบัตร

17 Aug 2012

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--ตลท.

ตลาดตราสารหนี้ (BEX) ในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมเป็นตลาดรองสำหรับพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษของกระทรวงการคลัง ที่ สบน. จะเปิดจำหน่าย ก.ย. นี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ขยายโอกาสการลงทุนในพันธบัตร

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง จะเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษในปีงบประมาณ 2555 ระหว่างวันที่ 3-14 กันยายน 2555 วงเงินรวม 80,000 ล้านบาท ว่า ได้เตรียมพร้อมจดทะเบียนพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นนี้ในตลาดตราสารหนี้ (Bond Electronic Exchange: BEX) ภายใต้กลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ออมสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนพันธบัตรออมทรัพย์ในตลาดรองได้อย่างสะดวก โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ที่พร้อมให้บริการซื้อขายและชำระราคาผ่านระบบงานของตลาดหลักทรัพย์

“BEX มีความพร้อมในการเป็นตลาดรองสำหรับการซื้อขายพันธบัตรและตราสารหนี้ทุกประเภท ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรฐานสากล ทำให้การซื้อขายเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใสและเป็นธรรม โดยผู้ลงทุนสามารถซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทั้ง 38 บริษัท ซึ่งการนำพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษของกระทรวงการคลัง เข้าจดทะเบียนใน BEX จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้พันธบัตรดังกล่าว เป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนให้ผู้ออมสามารถซื้อพันธบัตรหลังจากปิดการจำหน่ายไปแล้ว และขายพันธบัตรได้ก่อนครบกำหนดอายุ” นายจรัมพรกล่าว

นอกจากนี้ กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังให้บริการครบวงจร โดยบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำหน้าที่ให้บริการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ตราสารหนี้ รวมทั้งให้บริการรับฝากตราสารหนี้ในระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (Scripless)โดยพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษของของกระทรวงการคลังรอบนี้ถือเป็นพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นแรกที่เป็น Scripless ของประเทศไทย

ปัจจุบันตราสารหนี้ที่ซื้อขายอยู่ใน BEX มีจำนวน 637 รุ่น แบ่งเป็น พันธบัตรรัฐบาล 69 รุ่น พันธบัตรรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ 471 รุ่น หุ้นกู้ภาคเอกชน 96 รุ่น พันธบัตรเอเชีย 1 รุ่น (ข้อมูล ณ 15 ส.ค. 2555) สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายตราสารหนี้สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)-กภ-