อธิการบดีใหม่ สจล. เตรียมพลิกโฉมการศึกษาไทย สร้างดิจิทัลทีวีแห่งแรก พร้อมย้ำภาพการเป็นท็อปเท็นด้านวิทย์-เทคโนฯแห่งอาเซียน

08 Aug 2012

กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--สจล.

ศาสตราจารย์ ดร. ถวิล พึ่งมาอธิการบดีคนใหม่ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังประกาศเดินหน้าเต็มที่เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาคุณภาพวิชาการให้ก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้นเพื่อวางรากฐานสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคต โดยมุ่งพัฒนาสถาบัน 5 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาผู้นำ การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนานักศึกษาสู่ระดับสากล โดยจะเน้นการเป็นสถาบันการศึกษาที่มีเทคโนโลยีอันล้ำสมัย เพื่อก้าวสู่การเป็นเป็นสถาบัน 1 ใน 5 ของประเทศไทยภายใน 4 ปี และการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆเพื่อเป็น 1 ใน 10 ของสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าแห่งประชาคมอาเซียนในปี 2563 โดยเริ่มต้นพัฒนาสถาบันด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาใช้ และพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้เป็นที่พึ่งของสังคมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ โดยเริ่มตั้งแต่การนำเทคโนโลยีมาใช้ภายในสถาบัน รวมถึงการคิดค้นและสร้างสถานีส่งการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชนย่านลาดกระบังขึ้น ถือเป็นสถานีส่งต้นแบบการแพร่สัญญาณสำหรับชุมชนเป็นแห่งแรกของประเทศ นอกจากนี้ สถานีส่งการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชนแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษาของสถาบัน นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอื่น ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจเกี่ยวกับระบบการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชน ให้เข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่สถานีแห่งนี้ นับเป็นการพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย ให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้จริง โดยจะมีการส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ เขตมีนบุรี บางกะปิ ประเวศ บางพลี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ถือเป็นการสร้างประโยชน์และเป็นที่พึ่งให้กับสังคมในฐานะของสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อีกทางหนึ่ง ตลอดจนยังตอบโจทย์สโลแกนของสถาบันที่ “สังคมแห่งนวัตกรรม หรือINNOVATIVE SOCIETY”

เมื่อวันทื่ 20 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร. ถวิล พึ่งมา เป็นอธิการบดีคนที่ 8 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) โดย ศ.ดร. ถวิล พึ่งมา กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่น่าภาคภูมิใจ การที่ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่ง ก็จะทำให้เต็มที่ พร้อมกับการพัฒนาสถาบัน ไปสู่การเป็นสถาบันอันดับหนึ่งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมเดินหน้าปักหมุดกำหนดทิศทางการพัฒนาคุณภาพวิชาการให้ก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้นเพื่อวางรากฐานสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคต ทั้งนี้วิสัยทัศน์ของการพัฒนาสถาบันมีทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาผู้นำ การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนานักศึกษาสู่ระดับสากล โดยจะเน้นการเป็นสถาบันการศึกษาที่มีเทคโนโลยีอันล้ำสมัย โดยใช้เทคโนโลยีด้านการเรียนการสอนให้มีความล้ำหน้า นำวิทยาการใหม่เข้ามาใช้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตลอดจนการพัฒนาอาคารเรียนไฮเทค(Hi-tech Building) ที่ควบคุมและประเมินผลการเรียนการสอนได้จากส่วนกลาง ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องการเน้นให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะของตนเองได้อย่างเต็มที่ มีการสนับสนุนให้นักศึกษาของสถาบันคิดค้นงานวิจัยต่างๆได้อย่างเปิดกว้าง โดยมีกองทุนงานวิจัยรองรับ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตัวนักศึกษาเอง เมื่อจบการศึกษาก็สามารถออกไปทำงานได้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

ศ.ดร. ถวิล กล่าวต่อว่า เป้าหมายที่สำคัญของพระจอมเกล้าลาดกระบัง ที่จะต้องก้าวไปให้ถึงนั้น คือการพัฒนาให้สถาบันเป็นสถาบัน 1 ใน 5 ของประเทศไทยภายใน 4 ปี และการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆเพื่อพัฒนาสถาบันให้เป็นสถาบัน 1 ใน 3 ของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 10 ของสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าแห่งประชาคมอาเซียนในปี 2563 โดยเริ่มต้นพัฒนาสถาบันด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาใช้ เนื่องจากเล็งเห็นว่า คณาจารย์และบุคลากรของสถาบันมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีการผลิตผลงานทางวิชาการ รวมถึงผลงานวิจัยที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้งานออกมาเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสิ่งที่สถาบันต้องนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำไปพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศได้ เปรียบเสมือนการเป็นที่พึ่งของสังคมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ความเป็นสากล ก็เป็นสิ่งที่สถาบันกำลังพยายามปรับตัว โดยมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆให้ตรงตามความต้องการของในประเทศและต่างประเทศ การจัดหลักสูตรนานาชาติอย่างจริงจังโดยเริ่มใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนในวิชาพื้นฐาน เพื่อให้นักศึกษาเริ่มซึมซับกับภาษาอังกฤษและสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการจัดหลักสูตรพื้นฐานทางวิชาการและหลักสูตรเทคโนโลยีเพื่อวิชาชีพให้แก่นักศึกษาทุกระดับชั้น

“สำหรับแนวทางในการพัฒนาสถาบันในขั้นเริ่มต้น สิ่งที่สถาบันต้องการเน้นย้ำ คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเริ่มตั้งแต่การปรับปรุงห้องเรียนและห้องสมุดให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการสอน การวิจัยจากฐานข้อมูลกลางได้ การสนับสนุนให้สถาบันเป็นแหล่งความรู้ โดยการสอนผ่านระบบ ICT และการปรับปรุงเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารภายในสถาบัน ซึ่งนอกจากที่กล่าวมานั้น สิ่งต่อไปที่สถาบันกำลังดำเนินการอยู่นั้น คือการนำเทคโนโลยีที่คณาจารย์ของสถาบันได้คิดค้นและพัฒนาขึ้นออกไปรับใช้สังคม นั่นคือ การพัฒนาเทคโนโลยีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลกับครั้งแรกของระบบส่งสัญญาณแบบดิจิทัลในประเทศไทยในรูปแบบ DVB-T2 ซึ่งถือว่าเป็นวิวัฒนาการของกิจการโทรทัศน์ที่สำคัญมาก เพราะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว ด้วยขนาดคลื่นความถี่วิทยุที่เท่ากัน แต่กลับให้ประโยชน์อันมากมายถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สถาบันต้องการจะพัฒนา เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย และสร้างความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น”ศ.ดร. ถวิล กล่าว

ศ.ดร. ถวิล กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดตัวเทคโนโลยีระบบส่งสัญญาณแบบดิจิทัลครั้งแรกของในประเทศไทย ว่าปัจจุบันโทรทัศน์ในประเทศไทยนั้น ถ่ายทอดสัญญาณ ในระบบแอนะล็อก ซึ่งทำให้ความคมชัด คุณภาพของภาพ ฯลฯ ยังไม่ดีเท่าที่ควร ตลอดจนแอนะล็อกนี้สามารถส่งช่องรายการได้เพียงช่องเดียว เมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยีระบบดิจิทัลที่สามารถออกอากาศได้มากถึง 8-25 ช่องรายการ พร้อมคุณภาพที่ดีในการรับชมและความคมชัดมากขึ้น สามารถให้บริการมัลติมีเดียใหม่ๆ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานของประเทศ เพราะประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าหลายเท่าตัว แต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนระบบไปสู่ดิจิทัล คือ การกำหนดมาตรฐานโทรทัศน์ระบบดิจิทัล เพื่อให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งใช้เป็นมาตรฐานในการส่งสัญญาณออกอากาศ และภาคอุตสาหกรรมนำไปผลิตอุปกรณ์เครื่องรับโทรทัศน์ได้ โดยมาตรฐานที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ให้การรองรับมี 5 ระบบ คือ ATSC, DVB-T, ISDB-T, DTMB และ DVB-T2 ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ระบบ DVB-T2 ประมาณ 38 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้มีการอนุญาตและดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลทีวี จึงทำให้สถาบันเล็งเห็นถึงความสำคัญของการก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ทีมวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมของสถาบันจึงได้คิดค้นและสร้างสถานีส่งการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชนย่านลาดกระบังขึ้น

สถานีส่งการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชน ที่พระจอมเกล้าลาดกระบังได้คิดค้นขึ้นนี้ ถือเป็นสถานีส่งต้นแบบการแพร่สัญญาณสำหรับชุมชนเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสาเหตุที่ใช้มาตรฐานแบบ DVB-T2 นั้น เนื่องจาก มาตรฐานนี้มีการปรับโหมดการทำงานได้หลายแบบ มีความยืดหยุ่นอ่อนตัว อีกทั้งยังใช้เทคนิคระบบป้องกันแก้ไขความผิดพลาดของสัญญาณ เพื่อให้สัญญาณมีความคงทน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพเป้าหมายในระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์ในช่องคลื่นความถี่ที่กำหนดได้ นอกจากนี้ สถานีส่งการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชนแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษาของสถาบัน นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอื่น ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจเกี่ยวกับระบบการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชน ให้เข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่สถานีแห่งนี้ นับเป็นการพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย ให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้จริง ไม่ใช่การจำลองขึ้น อีกทั้งยังเป็นสถานีในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ให้กับชุมชนข้างเคียงได้อีกด้วย โดยจะมีการส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ เขตมีนบุรี บางกะปิ ประเวศ บางพลี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งสถาบันเองถือว่าโครงการวิจัยนี้ สามารถสร้างประโยชน์และเป็นที่พึ่งให้กับสังคมในด้านเทคโนโลยีได้ไม่มากก็น้อย

การนำสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สู่การเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำ ตามวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้นั้น การพัฒนาระบบเทคโนโลยีการเรียนการสอนของสถาบันให้ล้ำสมัยเป็นสิ่งสำคัญ ตลอดจนการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนต้องมีความล้ำหน้าดังเช่น สโลแกนของสถาบันที่ว่า “สังคมแห่งนวัตกรรม : INNOVATIVE SOCIETY” อย่างไรก็ตามการที่จะนำ สจล.พัฒนาแบบก้าวกระโดดทางสถาบันต้องเร่งสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การทำวิจัยร่วม การจัดประชุมทางวิชาการนานาชาติ การแลกเปลี่ยนอาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาและสำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฯลฯที่สถาบันมีความร่วมมืออยู่แล้วนั้นก็จะต้องต่อยอดในการสร้างความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากขึ้น ตลอดจนการสร้างความร่วมมือให้มากขึ้นกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เพื่อให้นักศึกษาในทุกระดับรวมไปถึงบุคลากรได้เรียนรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกในแวดวงอุตสาหกรรมที่แท้จริง เพื่อตอบโจทย์อัตลักษณ์ของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ว่า“ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน” ได้อย่างดีที่สุด ศ.ดร. ถวิล กล่าวสรุป

-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit