วว. ลงนามถ่ายทอดเทคโนโลยีแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สู่กลุ่มเกษตรกร/ผู้ประกอบการ ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้

06 Sep 2012

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--วว.

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายใต้โครงการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ยกระดับขีดความสามารถการผลิตของกลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ สร้างความมั่งคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า วว. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกันถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร คือ ลองกอง เงาะ มังคุด มะพร้าว ส้มแขก และอื่นๆ รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ให้กับกลุ่มเกษตรกร/ผู้ผลิต หรือ ผู้ประกอบการ ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ไขปัญหาผลไม้ราคาตกต่ำและด้อยคุณภาพ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรในเขตพื้นที่ใกล้เคียง โดยระยะเวลาความร่วมมือดังกล่าว เป็นเวลา 3 ปี

“...วว. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งโครงการนี้จะสนับสนุนนักวิชาการในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากลองกอง เงาะ มังคุด และอื่นๆ ตลอดจนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับลักษณะของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการสนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักรที่จำเป็นต่อกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ วว.มีความเชี่ยวชาญนั้นจะเป็นประโยชน์ในการนำผลผลิตทางการเกษตรที่มีมากเกินความต้องการในฤดูกาล มาเพิ่มมูลค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สามารถจำหน่าย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรต่อไป...” ผู้ว่าการ วว.กล่าวเพิ่มเติม

อนึ่ง วว. มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบกระบวนการผลิต ต้นแบบกระบวนการ ต้นแบบเครื่องมืออุปกรณ์ด้านอาหาร รวมทั้งการแปรรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่อการส่งออก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตัวอย่างผลงานด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ดังนี้

  • นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลองกอง ประกอบด้วย เครื่องล้างและปลิดขั้วลองกอง มีประสิทธิภาพแยกก้านและผลลองกองออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ โดยผลลองกองไม่แตกช้ำเสียหาย มีกำลังการผลิต 300 กิโลกรัม/ชั่วโมง เหมาะสำหรับเกษตรกรและกลุ่มแม่บ้านที่ต้องการแปรรูปลองกอง ซึ่งต้องผ่านกระบวนการปลิดขั้วจากช่อและล้างทำความสะอาดด้วยระบบน้ำหมุนเวียนก่อนปอกเปลือกลองกอง สำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป เครื่องคั้นน้ำลองกอง มีประสิทธิภาพคั้นน้ำลองกอง โดยสามารถแยกกากและน้ำออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ สะอาด ถูกสุขอนามัย โดยไม่ทำให้เมล็ดแตก มีกำลังการผลิต 300 ลิตร/ ชั่วโมง สามารถประยุกต์ใช้เครื่องกับผลไม้ที่มีลักษณะเนื้อนุ่มอีกหลายชนิด เช่น องุ่น มะม่วง สับปะรด ลำไย ลิ้นจี่ มะเม่า และมะเขือเทศ เป็นต้น เหมาะสำหรับวิสาหกิจชุมชนเพื่อนำไปใช้ในการแปรรูปผลไม้เป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่ม ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลองกอง ได้แก่ เครื่องดื่มน้ำลองกอง แบบพลาสเจอร์ไรซ์บรรจุขวด มีอายุการเก็บรักษาไม่น้อยกว่า 1 เดือนที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส และ แบบสเตอริไรซ์บรรจุกล่อง มีอายุการเก็บรักษาไม่น้อยกว่า 1 ปี ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส แยมและเยลลี่ลองกอง พัฒนาจากเนื้อและน้ำลองกอง จากกระบวนการผลิตเครื่องดื่มน้ำลองกอง เหมาะกับวิถีชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบัน ลองกองลอยแก้ว อายุเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง 1-2 เดือน รสชาติกลมกล่อม ลองกองแช่อิ่มอบแห้ง เนื้อสัมผัสผลิตภัณฑ์นุ่ม รสชาติหวานน้อยและสะดวกต่อการบริโภค
  • ผลิตภัณฑ์แปรรูปเงาะครบวงจร วว. ใช้ประโยชน์จากเงาะทั้งผล ตั้งแต่เปลือก เนื้อ เมล็ด เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำให้ไม่มีของเหลือทิ้ง ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาราคาตกต่ำของเงาะ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำเงาะเข้มข้น เจือจางกับน้ำ/โซดา เป็นน้ำเงาะพร้อมดื่ม/ซ่า หรือเป็นสารให้ความหวานเพื่อปรุงแต่งรสชาติ สามารถเก็บไว้ได้นานกว่า 1 ปี ผลิตภัณฑ์เนื้อเงาะแผ่นกรอบ ขนมขบเคี้ยวรูปแบบใหม่ คุณค่าทางโภชนาการสูง ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักและน้ำส้มสายชูพร้อมดื่มเพื่อสุขภาพจากน้ำเงาะ ใช้ประกอบอาหารหรือผสมกับน้ำ/น้ำผลไม้ ช่วยระบบย่อยอาหารดีขึ้น ผลิตภัณฑ์เงาะแช่อิ่มอบแห้งในน้ำเสาวรส ผิวนอกแห้ง เนื้อในนุ่ม ชุ่มด้วยน้ำหวาน เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องได้นานโดยไม่เน่าเสีย เมล็ดเงาะเคลือบปรุงรส ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เนื้อสัมผัสและรสชาติแปลกใหม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ใยอาหารจากเปลือกเงาะ นำไปประยุกต์ใส่ในอาหาร อาทิ ไอศกรีม เบเกอรี่ (ทดแทนแป้งสาลีได้สูงสุดถึง 30% ) หรือ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (ไส้กรอกและลูกชิ้น สามารถใช้ได้ในปริมาณ 3-7%) ผลิตภัณฑ์แป้งจากเมล็ดเงาะ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นสารเพิ่มความข้นหนืดในน้ำสลัดแป้งเงาะไขมันต่ำ ให้พลังงานต่ำกว่าน้ำสลัดสูตรไขมันปกติถึง 4 เท่า เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเงาะสดเพื่อการยืดอายุการเก็บรักษาผลเงาะโดยใช้น้ำอิเล็กโตรไลท์ สามารถคงลักษณะภายนอก เช่น สีของผลและขน การสูญเสียน้ำหนัก และการผลิตก๊าซเอทิลีน ได้ดี

นอกจากนี้ วว. ยังมีความเชี่ยวชาญในด้านการบรรจุภัณฑ์ โดยศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย มีศักยภาพในการวิจัยพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และวัสดุบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ บริการที่ปรึกษา บริการวิเคราะห์ให้บริการด้านการวิเคราะห์ทดสอบ บริการข้อมูลสารสนเทศ ตลอดจนการให้บริการฝึกอบรมด้านบรรจุภัณฑ์อีกด้วย

วว.พร้อมให้คำปรึกษาและให้บริการด้านการวิจัยอย่างครบวงจร โทร. 0 25779000 หรือ วว. Call Center โทร. 02577 9300 ในวันและเวลาราชการ www.tistr.or.th-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net