ย้อนยุคกับธรณี.....

29 Aug 2012

กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

มีแฟนคลับสอบถามเขามา..ว่าอยากรู้เรื่องทรัพยากรธรณีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเมื่อมองไปรอบๆตัวตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนกระทั่งเข้านอน หรืออีกนัยหนึ่งตั้งแต่เกิดจนตายคนเรามีชีวิตเกี่ยวข้องอยู่กับธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีอย่างมากมาย ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคและการดูแลรักษาสุขภาพ เครื่องใช้ไม้สอยยานพาหนะ พลังงาน ปัจจุบันยังมีเครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรณีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ดิน หิน แร่ธาตุ น้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ไปจนถึงเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์หรือนับแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลก จึงจำเป็นต้องขอความรู้จากผู้รู้และมีประสบการณ์คือ คุณสมศักดิ์ โพธิสัตย์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และอดีตนายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย มาให้มุมมองทางด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี ที่มีบทบาทต่อวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์เป็นต้นมาซึ่งท่านขอเรียนว่าเป็นความรู้สะสมจากการอ่าน การเห็นและการได้สัมผัสทั้งของจริงด้วยตนเองและในพิพิธภัณฑ์ฯ สำหรับผู้ที่ต้องการแหล่งอ้างอิงหรือภาพทางโบราณคดี สามารถไปค้นคว้าเพิ่มเติมได้

มนุษย์เราใช้ประโยชน์จากสภาพธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยังเป็นมนุษย์วานรอาศัยเพิงหิน ชะง่อนผา และถ้ำ เพื่อหลบแดดหลบฝน หลบพายุ หลบความหนาวเย็นจากหิมะและแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งในยุคน้ำแข็ง หลบภัยธรรมชาติและสัตว์ร้ายต่างๆ และใช้หินเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตเพื่อขับไล่สัตว์ร้ายหรือศัตรู ไปจนถึงใช้ล่าสัตว์ ตัดและทำการเกษตรกรรม ในเบื้องต้นก็โดยใช้ก้อนหินหรือก้อนกรวดแม่น้ำขนาดพอเหมาะมือ ขว้าง ปา หรือขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อใช้ในการทุ่มใส่หรือกลิ้งใส่ หรือใช้ก้อนกรวดขนาดเหมาะมือมัดกับกิ่งไม้หรือทำเป็นลูกตุ้มเพื่อใช้ทุบ แล้วพัฒนามาเป็นเครื่องมือหินกระเทาะหรือขวานหินกำปั้นที่ทางโบราณคดีเรียกว่าขวานหินแบบ Acheulene ใน “ยุคหินเก่า” ซึ่งเทียบได้กับสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene Epoch) หรือยุคน้ำแข็ง ซึ่งเป็นสมัยแรกของยุคเทอร์นารี (Quaternary) มี อายุประมาณ 1.๘ ล้านปี ถึง ๑๐,๐๐๐ ปีที่ผ่านมาของทางธรณีวิทยา

จากนั้นจึงค่อยๆมีวิวัฒนาการโดยกระเทาะขอบหินให้คมและมีปลายแหลมเพื่อใช้ตัดหรือแล่เนื้อได้ที่ทางโบราณคดีเรียกว่า Mousterian และดัดแปลงรูปทรงเป็นหินขัดที่มีปลายแหลมกว่าและยาวกว่าแบบ Magdanian นอกจากนั้นยังทำเครื่องประดับ ภาชนะดินเผา และภาพเขียนสีในถ้ำและผนังเพิงผา ในช่วงปลายของยุคหินเก่าซึ่งเป็นช่วงหิมะละลายแต่ก็มิได้หมายความว่าอุณหภูมิจะอุ่นขึ้นทันที หลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานี้ยังคงอาศัยอยู่บนที่สูงโดยเฉพาะในถ้ำและที่ดอนเป็นหลัก แต่ก็มีที่อพยพลงมาอยู่ที่ราบใกล้แหล่งน้ำและอยู่รวมกันเป็นหมู่ จึงเป็นจุดเริ่มการคิดค้นประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้มากขึ้น ในประเทศไทยมีรายงานการค้นพบทางโบราณคดีว่าพบเครื่องมือหินกะเทาะที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ใต้หินบะซอลต์ซึ่งเป็นหินอัคนีพุชนิดหนึ่งเนื้อละเอียดสีดำที่เกิดจากลาวาหนืดที่ปะทุและไหลเอิบอาบเมื่อประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ปีมาแล้ว ที่เขาป่าหนาม บ้านแม่ทะ และบ้านดอนมูล อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เป็นต้น

“ยุคหินกลาง” อายุประมาณ ๑๐,๐๐๐-๖,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเทียบได้กับสมัย (Holocene Epoch) ซึ่งเป็นสมัยต่อมาจนถึงป้จจุบันของยุคควอเทอณ์นารีมีอายุอ่อนกว่า ๑๐,๐๐๐ ปีลงมาของทางธรณีวิทยา เครื่องมือหินในยุคนี้เป็นหินกะเทาะที่ประณีต มีขนาดเล็กกว่ายุคเก่าและมีปลายแหลม หรือเป็นแบบใช้ถากและใช้ขูด ในประเทศไทยพบในถ้ำหลายแห่งในหลายจังหวัดเช่นที่ จ.กระบี่ จ.กาญจนบุรี จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลพบุรี จ.ราชบุรี และที่สำคัญที่ถ้ำโลงผี หรือถ้ำผีแมน อ.เมือง และ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ที่พบโลงผีมากมายในหลายถ้ำ เป็นต้น นอกจากพบเครื่องมือหินแบบต่างๆแล้วยัง พบเครื่องปั้นดินเผา และโลงผีไม้ที่สันนิษฐานกันว่าใช้เครื่องมือหินขุดขนาดต่างๆจำนวนมาก และอื่นๆอีกมากมาย

มนุษย์ยุคนี้เริ่มวาดภาพสัตว์ต่างๆแบบง่ายๆบนผนังถ้ำแต่ในบางแห่งเช่นแถวยุโรปอาจพบที่เก่ากว่าและภาพเริ่มมีความยุ่งยากมากขึ้น โดยรู้จักนำแร่เหล็กชนิดฮีมาไทต์ (Hematite: Fe2O3) ซึ่งเมื่อทุบแล้วบดละเอียดจะมีสีน้ำตาลแดง หรือสีหมากสุก และแร่เหล็กชนิด ไลโมไนต์ (Limonite: 2Fe2O3.3H2O) ที่มีสีน้ำตาลอมเหลือง มาทำสีเขียนภาพผนังถ้ำหรือผาหิน การพบเครื่องปั้นดินเผาแสดงว่ามนุษย์ยุคหินกลางรู้จักเทคโลยีการนำดินมาปั้นใช้เป็นภาชนะและนำไปเผาไฟที่อุณหภูมิสูงถึง ๑๒๐๐ องศา

และที่สำคัญแสดงว่ารู้จักเทคนิคการจุดไฟและการใช้ไฟซึ่งเป็นรากฐานเทคโนโลยีการถลุงแร่โลหะและมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องไปสู่ยุคโลหะในเวลาต่อมา เทคนิคการจุดไฟอาจมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายยุคหินเก่าโดยมีข้อสันนิษฐานวิธีการต่างๆกันหลายอย่างแต่ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรณีก็โดยการใช้หินที่มีเนื้อแน่นเนียนแข็งแกร่ง และเหนียว เช่น หินเชิร์ต (Chert) ที่ประกอบด้วยผลึกซิลิกาเล็กละเอียดมากกับมลทินเช่นแร่เหล็ก และหินในตระกูลนี้คือ หินเหล็กไฟ (Flint) และ แจสเปอร์ (Jasper) มาตีกันแรงๆจะเกิดประกายไฟขึ้น ซึ่งอาจเป็นการค้นพบโดยบังเอิญจากการทำขวานหินกระเทาะขอบให้คมแล้วเกิดประกายไฟกระเด็นไปถูกวัสดุติดไฟง่าย หลักฐานภาชนะดินเผาสมัยต้นของบ้านเชียง จ.อุดรธานี ยืนยันความก้าวหน้าของการใช้ไฟเผาดินได้เป็นอย่างดีใน”ยุคหินใหม่” ที่ถึงแม้จะมีวิวัฒนาการก้าวหน้าแต่ก็ยังคงใช้เครื่องมือหินต่อเนื่องไปจนถึงยุคโลหะตอนต้นที่ใช้เครื่องมือหินในการขุดทำเหมืองแร่ทองแดงที่ภูโล้น อ.สังคม จ.หนองคาย วิถีชีวิตของมนุษย์ยุคหินใหม่เปลี่ยนจากอยู่บนที่สูงลงมาอยู่บนที่ราบใกล้แม่น้ำมากขึ้น มีการผลิตเครื่องประดับจากหิน แร่ และดิน ในแบบต่างๆ เครื่องมือหินก็พัฒนารูปแบบยาวและมีปลายแหลมมากขึ้น

มนุษย์เรามีความเชื่อมโยงในเรื่องของธรณีที่มีมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่มีหลงเหลือให้ได้เรียนรู้ถึงวิวัฒนการอันสำคัญด้านธรณีวิทยา ดังนั้นธรณีวิทยากับชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เรื่องของธรณีวิทยาในอดีตยังไม่จบเพียงเท่านี้ ในตอนหน้าเรายังมีวิวัฒนาการที่ถูกพัฒนาศักยภาพด้านธรณีเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ร่วมติดตามกับเราได้ที่นี้......รอบรู้กับธรณี

สนับสนุนข้อมูลโดย

สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net