สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยวอนเลิกใช้อคติแก้โรคอ้วน ชี้อย่าเลือกปฏิบัติแต่กับน้ำอัดลม ต้องแก้ที่การบริโภคโดยรวม

19 Feb 2013

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--ดีซี คอนซัลแทนส์ฯ

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ในฐานะศูนย์กลางของผู้ประกอบอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานที่เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มภาษีน้ำอัดลมเพื่อแก้ปัญหาโรคอ้วน ระบุการเลือกปฏิบัติกับสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ช่วยแก้ปัญหา ต้องเลิกใช้อคติในการกล่าวโทษ และเร่งปรับพฤติกรรมการบริโภคในภาพรวม

นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เปิดเผยว่าสมาคมฯไม่เห็นด้วยกับการที่เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานออกมาเรียกร้องให้รัฐขึ้นภาษีน้ำอัดลมเพื่อแก้ปัญหาโรคอ้วน โดยเห็นว่าเป็นการใช้อคติและเลือกปฏิบัติ และจะไม่ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง เพราะเพ่งเล็งไปที่ผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว ในขณะที่โรคอ้วนเกิดจากพลังงานส่วนเกินที่สามารถมาได้จากอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด “เป็นที่ยอมรับกันในแวดวงวิชาการว่า พลังงานส่วนเกินไม่ว่าจะมาจากอาหารและเครื่องดื่มประเภทใดล้วนแต่ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดจึงต้องมุ่งไปที่การส่งเสริมการบริโภคที่เหมาะสมในภาพรวม เราได้พยายามสื่อสารประเด็นนี้มาหลายครั้งในหลายโอกาสแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจและยังมีข้อเรียกร้องให้ขึ้นภาษีแต่เฉพาะกับน้ำอัดลมออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราคิดว่าเป็นการหลงประเด็นและไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ มักจะมีการหยิบยกสถานการณ์ในและรอบๆ โรงเรียนมาโจมตีน้ำอัดลมอยู่เสมอ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ในจุดเหล่านี้ ไม่ได้มีการขายแต่เฉพาะน้ำอัดลม แต่มีทั้งอาหาร ขนม และเครื่องดื่มอีกหลายชนิด รวมถึงน้ำผลไม้และน้ำสมุนไพรที่มีการรณรงค์ให้บริโภคทดแทนน้ำอัดลมด้วย ซึ่งถ้ามีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบและมีการบริโภคที่เกินพอดีแล้ว ก็ส่งผลไม่ต่างจากการบริโภคน้ำอัดลมที่เกินพอดี ถ้าเก็บภาษีน้ำอัดลมให้น้ำอัดลมราคาแพงๆ แล้วคนหันไปบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารหวานอื่นๆ ที่ไม่เสียภาษีทดแทน แล้วจะมีประโยชน์อะไร เงินภาษีที่เคยเก็บได้ก็จะไม่ได้ และคนก็เปลี่ยนจากได้รับน้ำตาลจากทางหนึ่งไปได้รับจากอีกทางหนึ่ง ที่น่าสงสัยกว่านั้น คือตกลงนโยบายนี้แค่อยากให้น้ำอัดลมขายไม่ได้ หรือสนใจสุขภาพผู้บริโภคกันแน่ เพราะการบริโภคน้ำอัดลมหรือไม่ ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ตัวเดียวว่าใครจะอ้วนหรือสุขภาพดีหรือไม่ เราต้องพูดถึงพฤติกรรมการบริโภคในภาพรวม” นายวีระกล่าว ส่วนในกรณีที่มีการอ้างถึงการศึกษาและสถานการณ์ในต่างประเทศเพื่อสนับสนุนมาตรการเพิ่มภาษีน้ำอัดลมนั้น นายวีระกล่าวว่า “แต่ละประเทศมีสถานการณ์แตกต่างกัน การแก้ปัญหาที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์จึงต้องเริ่มจากการศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนว่าสถานการณ์ของประเทศไทยเป็นอย่างไร ไม่ใช่ตั้งเป้ามาที่สินค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วก็เลือกนำเสนอข้อมูลแต่เฉพาะที่ตอบโจทย์นั้นๆ เช่น ประเทศไทยทุกวันนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำอัดลมมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว แต่แทนที่จะมองเรื่องนี้เป็นข้อบ่งชี้ว่าการเลือกปฏิบัติกับสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาโรคอ้วนได้ กลับเสนอให้เพิ่มการเก็บภาษีน้ำอัดลม โดยไม่เคยพิจารณาสินค้าอื่น หรือแม้แต่เครื่องดื่มผสมน้ำตาลอื่นๆ ที่ผู้ขายชงขายกันทั่วไป ซึ่งเราไม่ได้หมายความว่าเครื่องดื่มเหล่านี้บริโภคไม่ได้ แต่ทุกอย่างล้วนต้องบริโภคให้เหมาะสม รวมถึงเครื่องดื่มน้ำอัดลมด้วย จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะมาเลือกปฏิบัติกับน้ำอัดลมหรือน้ำตาลเพียงอย่างเดียว อย่างในประเทศออสเตรเลีย ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1980 - 2003 มีการบริโภคน้ำตาลน้อยลงถึงร้อยละ 23 แต่ในช่วงเวลาเดียวกันอัตราประชากรที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว เดนมาร์คที่ริเริ่มเก็บภาษีไขมัน ทำมาได้แค่ปีเดียวก็ต้องยกเลิกไป และก็ล้มเลิกแผนที่จะเก็บภาษีน้ำตาลไปด้วย เนเธอร์แลนด์เพิ่งยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ไปเมื่อปีก่อน ประเด็นเหล่านี้กลุ่มเด็กไทยไม่กินหวานไม่เคยนำมาพูดถึงเลย มีแต่นำเสนอข้อมูลของตนด้านเดียว” “หลายครั้ง เราเห็นว่ามีการพยายามอ้างอิงผลการศึกษาว่าการบริโภคน้ำอัดลมมีความเสี่ยงต่อสุขภาพมากกว่าเครื่องดื่มอื่นๆ แต่งานศึกษาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นงานที่ยังไม่ได้ข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน โดยในบทความฉบับเต็มจะบอกเสมอว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม แต่พอมีการนำมาอ้างอิงหรือเผยแพร่ กลับนำเสนอราวกับว่าประเด็นเหล่านี้มีข้อสรุปที่ชัดเจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้ว ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและความตื่นตระหนกได้ ทั้งๆ ที่น้ำอัดลมก็ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วว่าสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย” นายวีระกล่าวทิ้งท้าย อนึ่ง จากการศึกษาเรื่อง “สัดส่วนพลังงานที่คนไทยได้จากอาหาร” โดย ผศ.ดร.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจการบริโภคอาหารของประเทศไทย ระหว่างปี 2545 – 2547 พบว่าคนไทยได้รับพลังงานจากการบริโภคเครื่องดื่มในแต่ละวันน้อยมาก โดยในกลุ่มอายุ 20 - 64.9 ปี ได้รับพลังงานจากเครื่องดื่มในสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.4 ต่อพลังงานทั้งหมดที่ได้รับจากอาหารและเครื่องดื่มในแต่ละวัน และเพียงร้อยละ 2 ในกลุ่มอายุ 6 – 19.9 ปี จึงสรุปได้ว่า เครื่องดื่มไม่ได้เป็นแหล่งพลังงานหลักของประชากรไทย-กภ-