นักลงทุนภาคใต้ 500 ราย ร่วมสัมมนายุทธศาสตร์ใหม่ส่งเสริมการลงทุน บีโอไอเล็งจัดสัมมนาใหญ่รอบพิเศษ – พร้อมหารือ สภาอุตฯ สภาหอฯ ไทยเทศ

18 Feb 2013

กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--บีโอไอ

บีโอไอจัดสัมมนารับฟังความเห็นจากนักลงทุนไทยและต่างชาติในภาคใต้ เรื่องยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยมีนักลงทุนเข้าร่วมงาน 500 คน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มั่นใจยุทธศาสตร์ใหม่บีโอไอจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่อุตสาหกรรมแดนใต้ โดยเฉพาะยางพารา อาหารแปรรูป น้ำมันปาล์ม และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้านเลขาธิการบีโอไอย้ำ จะจัดสัมมนาใหญ่รอบพิเศษอีกครั้งก่อนจะเสนอบอร์ดใหญ่พิจารณา และบีโอไอพร้อมหารือกับองค์กรภาคธุรกิจ ทั้งสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าไทย

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่: เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จังหวัด สุราษฎร์ธานี ว่า การลงทุนในภาคใต้มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551 – 2555 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในภาคใต้จำนวน 526 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของทั้งประเทศ ดังนั้น การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ จำเป็นจะต้องรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่มีฐานการผลิตอยู่ในภาคใต้ด้วย เพื่อที่บีโอไอ และกระทรวงอุตสาหกรรม จะได้จัดทำแนวทางในการส่งเสริมการลงทุนที่จะช่วยต่อยอดการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม ในภาคใต้ และมั่นใจว่า แนวทางของยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าจากทรัพยากรด้านการเกษตรของภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมยาง อาหารแปรรูป น้ำมันปาล์ม กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ตลอดจนช่วยส่งเสริมกิจการท่องเที่ยวในภาคใต้ ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศ

“ การสัมมนา 4 ครั้งที่ผ่านมา ที่กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ และนครราชสีมา ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอรับทราบถึงความกังวลของนักลงทุนไทยและต่างชาติที่มีต่อแนวทางการปรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัจจัยต่างๆ ภายในประเทศได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบในวงกว้าง บีโอไอจึงมีความจำเป็นต้องทบทวนและปรับปรุงบทบาท และทิศทางยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยจะมุ่งเน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ทั้งนี้ บีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะรับข้อเสนอและความคิดเห็นของนักลงทุนไปประกอบการพิจารณาเพื่อเสนอต่อบอร์ดใหญ่ด้วย” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ แม้จะมีผลการศึกษาให้เลิกส่งเสริมการลงทุนในกิจการบางประเภท แต่บีโอไอก็จะรับฟังความเห็นและข้อเสนอของนักลงทุนทั่วประเทศด้วย และหลังจากนี้ บีโอไอก็จะจัดสัมมนาใหญ่รอบพิเศษขึ้นอีกครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ ตลอดจนความเห็นจากองค์กรภาคธุรกิจ ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า 2557

“ บีโอไอมิได้ปรับเปลี่ยนเฉพาะเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและประเภทกิจการที่จะให้ส่งเสริมเท่านั้น แต่เราจะปรับปรุงบทบาทขององค์กร เพื่อให้สามารถดูแลและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนของประเทศให้เอื้อต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาระบบการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน การสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจ การสร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนการลงทุน การป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักลงทุน รวมทั้งการเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศด้วย ” เลขาธิการ บีโอไอกล่าว -กภ-