สมาคมโรงเรียนนานาชาติชูกลยุทธ์ “Global Citizen” รับ AEC

06 Feb 2013

กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--ซิลเลเบิล

สมาคมโรงเรียนนานาชาติชูกลยุทธ์ “Global Citizen” รับ AECเน้นผลิตนักเรียนคุณภาพ ป้อนตลาดอาเซียนและตลาดโลก

นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นธุรกิจบริการการศึกษานานาชาติของไทยมีศักยภาพสูงพร้อมแข่งขันแม้หลังเปิดเสรีอาเซียน เน้นชูกลยุทธ์ “Global Citizen” หรือ การผลิตพลเมืองคุณภาพให้สังคมโลก พร้อมยืนยันนำสมาชิกโรงเรียนนานาชาติจากทั่วประเทศเข้าร่วม “งานการศึกษานานาชาติของไทย ครั้งที่ 10 หรือ TIEE 2013” วันที่ 22-24 กุมภาพันธ์นี้ ที่รอยัล พารากอนฮอลล์ สยามพารากอน

อาจารย์อุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย หรือ International Schools Association of Thailand (ISAT) เปิดเผยว่าธุรกิจบริการโรงเรียนนานาชาติได้ขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีความพร้อมในทุกๆ ด้านสำหรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าการเปิดเสรีการค้าอาเซียนไม่เพียงแต่จะกระตุ้นให้ธุรกิจบริการการศึกษานานาชาติต้องเร่งพัฒนาศักยภาพรับสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่จะส่งผลดีต่อนักเรียนและผู้ปกครอง เนื่องจากมีทางเลือกในการศึกษาในสถาบันนานาชาติที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น

“สาเหตุที่ผู้ปกครองยินดีส่งบุตรหลานมาเรียนโรงเรียนนานาชาติที่เมืองไทย แทนที่จะเป็นประเทศอื่นนั้น คิดว่าอยู่ที่คุณภาพที่โรงเรียนนานาชาติในไทยมีให้ ซึ่งพูดได้เลยว่าเราไม่เป็นรองใคร ในโลก หลักสูตรอเมริกันกับหลักสูตรอังกฤษของเราเป็นที่ยอมรับ เด็กที่จบไปก็สามารถศึกษาต่อ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ นั่นคือในส่วนวิชาการ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการเตรียมความพร้อมให้เด็ก กล่าวคือ สุดท้ายแล้วเราต้องการเห็นเด็กเป็น Global Citizen มีทักษะในการเรียนรู้ การวิเคราะห์ ซึ่งผู้ปกครองหลายท่านตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า การส่งบุตรหลานมาเรียนโรงเรียนนานาชาติ ทำให้ ลูกของเขาพัฒนา เปลี่ยนไปเป็นคนละคน และมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น อีกปัจจัยก็คือการที่เราเน้นไปที่ครูที่มีประสบการณ์ ซึ่งการได้มาซึ่งครูที่เก่งๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ” อาจารย์อุษากล่าว และเน้นย้ำถึงการให้ ความสำคัญด้านบุคลากรของแต่ละสถาบัน พร้อมยกตัวอย่างว่าโรงเรียนนานาชาติ ISB ซึ่งอาจารย์ทำหน้าที่อาจารย์ใหญ่ ในปัจจุบันมีการลงทุนราว 1,500 ล้านบาท ต่อปี และ 80% เป็นการลงทุนในส่วนของครู

อาจารย์ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า “เด็กที่เป็น Global Citizen คือเด็กที่มีความใส่ใจต่อคนรอบข้าง ไม่ใช่ว่ารู้ว่าโลกร้อนแล้วไม่ใส่ใจ จากนั้นก็คือเขาจะใช้หัวของเขาแก้ไขเรื่องพวกนี้อย่างไร เรามีการให้ทำโปรเจกต์ต่างๆ ในโรงเรียน ยกตัวอย่างเช่น ในโรงเรียนเราจะไม่ขายน้ำขวดเลย แต่ให้เด็กเอาขวดน้ำมาเอง ทุกอย่างที่เราใช้เป็น biodegradable (วัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ) ทั้งหมดการนำเรื่อง Global Citizen เข้าไปผสมกลมกลืนกับหลักสูตรของทุกวิชา ทำให้เด็กใช้ทั้ง head และ hand คือลงมือทำด้วย ให้ไอเดียตรงนี้ติดตัวเขาไปตลอด ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ยกตัวอย่างในบางสาขาวิชาเราให้นักเรียนทำ Community Service หรือบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงถึงจะให้ผ่านได้ เป็นต้น”

โรงเรียนนานาชาติของไทยดำเนินการสอนด้วยหลักสูตรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรอเมริกัน หลักสูตรอังกฤษ หลักสูตรญี่ปุ่น หลักสูตรออสเตรเลีย หลักสูตรสวิตเซอร์แลนด์ หลักสูตรเกาหลี ซึ่งล้วนเป็นหลักสูตรที่จะเตรียมความพร้อมด้านภาษาต่างประเทศรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

“นอกจากเรื่องการปลูกฝังนักเรียนสู่การเป็น Global Citizen ซึ่งโรงเรียนนานาชาติทำอยู่แล้ว ผ่านวิชา humanities หรือวิชาบังคับอย่างวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เด็กต้องเรียน สิ่งที่จะเสริมให้กับเด็กๆ ได้อาจเป็นเรื่องของภาษาเขมรหรือมลายู แต่ส่วนมากนักเรียนเราจะต้องเรียน 3 ภาษาอยู่แล้ว โดยจะเรียนภาษาจีนกับญี่ปุ่นเยอะมาก ซึ่งบางคนกลับไปที่บ้านเขาก็ยังไปเรียนภาษาสเปนหรือฝรั่งเศสของเขาเพิ่มเติม”

“การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า เป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้จำนวนนักเรียนต่างชาติในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะเพื่อนบ้านที่จะมาลงทุนบ้านเราจะเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งประเทศเราก็เป็นประเทศน่าอยู่ ทั้งในเรื่องความเป็นอยู่และอาหารการกิน”

อาจารย์อุษาแสดงความเชื่อมั่นว่าชาวต่างชาติมีแนวโน้มจะเลือกเรียนกับโรงเรียนนานาชาติในไทย ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ สภาพทางภูมิศาสตร์ คุณภาพการเรียนการสอนที่เป็นที่น่าพึงพอใจ รวมถึงค่าเล่าเรียนซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วราคาถูกกว่ามาก โดยค่าเล่าเรียนสูงสุดของเราเฉลี่ยปีละ 23,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ในขณะที่ในต่างประเทศซึ่งคุณภาพระดับเดียวกัน นักเรียนต้องจ่ายถึงกว่า 30,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปี

“ในกลุ่มการศึกษานานาชาตินั้นไม่น่ากลัวเลย ยิ่งเปิด AEC ยิ่งดีคนจะได้มาเรียนกับเราเยอะๆ โรงเรียนจากชาติอื่นที่มีคุณภาพมาเปิดที่นี่ ก็นับเป็นโอกาสให้เด็กของเราได้เรียนที่ดีๆ และนี่ยังส่งผลให้เกิดการแข่งขัน เป็นโอกาสที่ทำให้โรงเรียนเราที่มีอยู่เพิ่มศักยภาพตัวเองให้มากขึ้น” อาจารย์อุษากล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบัน มีโรงเรียนนานาชาติทั่วประเทศ จำนวน 133 แห่ง เพิ่มจาก 40 โรงเรียนในช่วงปี 2534-2535 ส่วนจำนวนนักเรียนปัจจุบันมีอยู่ราว 40,000 คน โดยจำนวนนักเรียนชาวต่างชาติ 5 อันดับแรกได้แก่สัญชาติญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกัน อินเดีย และเกาหลี

ส่วนภาพรวมของทั้งโลก ปัจจุบันมีโรงเรียนนานาชาติทั่วโลกรวม 6,327 แห่ง เพิ่มขึ้น 153 % ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประเทศที่มีโรงเรียนนานาชาติจำนวนมากกว่า 200 แห่ง คือประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน จีน อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น โดยมีการคาดการณ์กันว่า จากนี้ไปอีก 10 ปีหรือเมื่อถึงปีค.ศ. 2022 จะมีโรงเรียนนานาชาติทั่วโลกเพิ่มเป็น 11,331 แห่ง จำนวนนักเรียนจะเพิ่มจาก 3.14 ล้านคนเป็น 6.2 ล้านคน และจากจำนวนค่าเล่าเรียนที่เก็บได้ขณะนี้มูลค่า 33 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะขึ้นไปถึง 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ ทุกๆ 5 ปี โรงเรียนนานาชาติของไทยต้องผ่านการประเมินมาตรฐานเดียวกันกับโรงเรียนนานาชาติทั่วโลก คือต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากองค์กรต่างประเทศ อาทิ WASC, CIS, NEASC หรือ CSBT ซึ่งเป็นองค์กรที่กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ให้การยอมรับ

เผยแพร่ในนามกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยบริษัท ซิลเลเบิล จำกัด ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ คุณสมคิด เจริญศักดิ์/ คุณกชธณรรณ เจริญชัย โทร. 02 254 6895-7 โทรสาร 02 254 6839

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net