สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA , สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA สามองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาศักยภาพในภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย มุ่งเดินหน้าผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อรับมือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอนาคต
นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA กล่าวว่า ในปี 2555 ที่ผ่านมา SIPA เป็นหน่วยงานที่ยังคงเดินหน้าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ การส่งเสริมผู้ประกอบการด้านการตลาด และการสร้างมาตรฐานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งกล่าวได้ว่า SIPA ทำงานได้ครบถ้วน และประสบความสำเร็จในระดับสูง
“อย่างไรก็ตามในปี 2556 SIPA วางทิศทางการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ แผนระยะสั้น เป็นการสานต่องานตามวัตถุประสงค์เดิมของปีงบประมาณ 2555 ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมๆ กับการปรับแนวทางการบริหารงานภายใน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ SIPA ในส่วน แผนระยะกลาง เราจะเน้นการสร้างตลาดภายใน รวมถึงออกมาตรการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในด้านต่างๆ และการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างตลาดแบบครบวงจร ขณะที่ แผนระยะยาว SIPA จะขยายการทำตลาดไปยังต่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และเน้นการส่งเสริมด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) ที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ตลาด MAI”
นายไตรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ SIPA เล็งเห็นถึงแนวโน้มการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นอกจากจะส่งผลให้เกิดเสรีทางการค้า บริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนแล้ว ยังรวมถึงแรงงานฝีมือ โดยด้านแรงงานฝีมือนี้ ได้ครอบคลุมสาขาวิศวกรรมด้วย ซึ่งบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ของไทย แม้จะมีฝีมือดีแต่ยังเป็นรองด้านภาษาเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆในอาเซียน อย่างไรก็ตามคนไทยสามารถปรับตัวได้ดี จึงมีโอกาสที่คนไทยจะได้ทำงานร่วมกับบริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำมากขึ้น รวมถึงเป็นโอกาสให้แรงงานไทยออกสู่ตลาดโลก
“นอกจากนี้ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่เหมาะสมต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการทำงานอย่างครบครัน ทำให้เรามีโอกาสเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตซอฟต์แวร์ของอาเซียนได้โดยเราจะต้องเริ่มจากการสร้าง Network ของกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในอาเซียน แล้วแบ่งแยกกันทำงานโดยดูจากความถนัดของแต่ละประเทศ ประเทศใดถนัดเรื่องไหนก็ให้ทำในเรื่องนั้นๆเพื่อจะได้ไม่เกิดความซ้ำซ้อน และแย่งตลาดกันเอง ซึ่งจะทำให้ซอฟต์แวร์ของอาเซียนเราสามารถแข่งกับซอฟต์แวร์อื่นๆ ในตลาดโลกได้” นายไตรรัตน์ กล่าวสรุป
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กล่าวว่า ETDA เป็นหน่วยงานใหม่ที่มีหน้าที่หลักในการพัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ความมั่นคงปลอดภัย มาตรฐานที่สนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การวิจัยและพัฒนา จนถึงการเสนอแนะนโยบาย และกฎหมายที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กับทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน การดำเนินงานของ ETDA มีการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า “เป็นองค์กรสำคัญในการสนับสนุน SMART Thailand โดยส่งเสริมให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เติบโตอย่างมั่นคง ปลอดภัยทัดเทียมผู้นำในภูมิภาค”
ทั้งนี้จากวิสัยทัศน์ดังกล่าวไม่เพียงมุ่งไปสู่การตอบสนองโจทย์ของนโยบายภาครัฐเท่านั้น แต่ยังช่วยเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในเวทีต่างประเทศได้ รวมถึงเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งในมิติทางด้านเศรษฐกิจนั้น จะเห็นว่าอาเซียนได้กำหนดเป้าหมายทั้งในด้านการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน (Single Market and Production Base) การไปสู่ภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง (Competitive Economic Region) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน (Equitable Economic Development) และการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Integration into the Global Economy)โดยการดำเนินงานของ ETDA ได้พยายามวางแผนเพื่อให้สามารถผนวกและมีความสอดคล้องกับแผนงานอาเซียน ทั้งในระดับกระทรวงฯ และระดับประเทศ
นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA กล่าวว่า จากแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการสร้าง Smart Thailand โดย EGA จะเข้ามาขับเคลื่อนระบบไอทีให้กับภาครัฐทั้งหมดนั้น ในปี 2556 ได้วางเป้าหมายขยายเครือข่าย GIN หรือ เครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 หน่วยงาน ขึ้นระบบคลาวน์คอมพิวติ้งภาครัฐมากกว่า 130 ระบบ พัฒนาระบบซอฟต์แวร์พื้นฐานของภาครัฐให้ใช้บริการผ่านเว็บไซต์ได้ หรือเรียกว่า Software as a Service (SaaS) มีบริการเสริมในด้านต่างๆ บนคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับภาครัฐ โดยจับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะด้าน ซึ่งเท่ากับเป็นการเดินแผนรุกเต็มตัว หลังจากปีที่ผ่านมาเน้นสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีให้มีความแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตามในปีนี้ EGA ได้ร่วมมือกับ SIPA คือ 1.การจัดทำซอฟต์แวร์พื้นฐานในระบบราชการให้เป็นแบบ Software as a Service 2.การสร้าง Government Application Center ซึ่งทั้งสองโครงการนี้จะสร้างแนวทางใหม่ให้กับตลาดซอฟต์แวร์ไทยในตลาดราชการอย่างมาก และผนึกกำลังกับ ETDA ในการร่วมผลักดันโครงการเฉพาะด้าน กับการร่วมในส่วนของการสร้างระบบบูรณาการข้อมูลและ e-Service โดยทั้งหมดจะทำให้เกิดระบบการบริหารงานภาครัฐ เกิดการบูรณาการที่นำไปสู่การให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น
นางไอรดา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การผนึกกำลังของสามองค์การมหาชน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA , สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เตรียมความพร้อมกับรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่ใกล้มาถึง โดยร่วมมือกันผลักดันและพัฒนาศักยภาพในภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์, ผู้ประกอบการ, บุคลากรนักวิจัยและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยให้มีคุณภาพ รวมถึงกระบวนการส่งเสริมให้เกิดการความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กับทุกภาคส่วน ซึ่งการร่วมมือกันของทั้งสามองค์การมหาชน ไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมให้มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แต่ยังช่วยให้ประเทศมีคุณภาพ และศักยภาพที่พร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้เป็นอย่างดี
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "Phuket Smart City & Digital Economy" ในงานเปิดตัวโครงการ 'ส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล (Smart City)' จังหวัดภูเก็ต ภายใต้แนวคิด 'Phuket Smart City 2020 : Smile Smart and Sustainable Phuket' โดยกระทรวงไอซีที ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า จัดโครงการ 'Phuket Smart City' ขึ้นเพื่อรองรับนักลงทุนในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน หรือ AEC
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ กระทรวงไอซีที มอบหมายให้บริษัท เออาร์ไอที จำกัด เป็นผู้บริหารโครงการ...
สถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ...