“ยุทธพงศ์” ร่วมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่ายางพาราไทยเยือนมาเลเซีย ดูงานโครงการ Rubber City

22 Mar 2013

กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“ยุทธพงศ์” ร่วมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่ายางพาราไทยเยือนมาเลเซีย ดูงานโครงการ Rubber City ตามแนวตะเข็บชายแดน ชี้สองประเทศให้ความสนใจร่วมกัน หากเร่งเดินหน้าจะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุน

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่ายางพาราไทย กล่าวว่า จากการเยือนประเทศมาเลเซียของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ในอุตสาหกรรมยางพาราและปาล์มน้ำมัน ระหว่างไทย - มาเลเซีย และเพื่อผลักดันความร่วมมือดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 19 - 20 มีนาคม 2556 ตนพร้อมคณะอนุกรรมการฯ เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศมาเลเซีย รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจเอกชน บีโอไอ ผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการฯ ที่โรงแรมเจบีหรรษา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พร้อมศึกษาดูงานที่ด่านบ้านประกอบ และดูพื้นที่ที่เมืองโกตาปูตรา รัฐเคด้า ประเทศมาเลเซีย ที่ทางประเทศมาเลเซียได้เชิญชวนประเทศไทยให้มาทำเมืองรับเบอร์ ซิตี้

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากปริมาณยางพาราที่มีการส่งออกผ่านทางด่านสะเดา จ.สงขลา ในปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 41,000 ล้าน โดยเป็นน้ำยางข้นมูลค่า 31,000 ล้าน หรือปริมาณร้อยละ 75 ของยางที่ส่งออกมายังประเทศมาเลเซีย ซึ่งถ้ามีเมืองรับเบอร์ ซิตี้ แทนที่ประเทศไทยจะส่งออกมาในรูปของวัตถุดิบ ก็เปลี่ยนมาเป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของยางพารา จะทำให้เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศมากกว่า ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาหาปริมาณพื้นที่และพื้นที่ที่เหมาะสม อาจจะเป็นบริเวณด่านบ้านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา หรือ นิคมอุตสาหกรรมฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ส่วนในเรื่องของกรรมสิทธิ์พื้นที่ ต้องดูว่าจะเอาพื้นที่ไหน ใครเป็นเจ้าของพื้นที่ และใครเป็นผู้ลงทุน รวมทั้งเรื่องของการคมนาคมและระบบโลจิสต์ติก ซึ่งการเดินทางไปมาเลเซียในครั้งนี้ เป็นเพียงการหารือและสำรวจพื้นที่เบื้องต้น

“รัฐบาลมาเลเซียและรัฐบาลไทยมีความสนใจในการพัฒนาความร่วมมือโครงการรับเบอร์ ซิตี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าขายยางพาราและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และในปี 2558 ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อม และพัฒนาศักยภาพการส่งออกยางพาราให้มีความแข็งแกร่งทางด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาด ซึ่งเป็นที่ทราบดีกว่าปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบยางพารารายสำคัญให้กับประเทศมาเลเซีย หากไทยกับมาเลเซียหันมาจับมือกันหรือลงทุนร่วมกัน ก็ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมยางของทั้งสองประเทศมีความเข้มแข็งในทุกด้านมากยิ่งขึ้น” นายยุทธพงศ์ กล่าว

ด้าน นายกฤต ไกรจิตติ เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศมาเลเซีย ได้ให้ความเห็นว่า การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยร่วมกับการพัฒนาพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย ซึ่งโครงการรับเบอร์ ซิตี้ ที่ทางมาเลเซียได้ให้ทางไทยเข้ามาสนับสนุนร่วมกัน ในการที่จะพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยร่วมกันให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยางพาราที่สำคัญของโลก ซึ่งความคืบหน้าของโครงการฯดังกล่าว ขณะนี้ทางมาเลเซียได้กำหนดไว้อยู่ในแผนการพัฒนาของทางภาคเหนือ ส่วนของไทยกำลังดูความเหมาะสมของพื้นที่ -กภ-