เจ้าหญิงมาทิลด์ พระชายาในเจ้าชายฟีลิป มกุฎราชกุมารแห่งเบลเยี่ยม เสด็จเยี่ยมชมสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ

21 Mar 2013

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--พม.

วันนี้ (๒๑ มี.ค.๕๖) เวลา ๑๐.๓๐ น. เจ้าหญิงมาทิลด์ พระชายาในเจ้าชายฟีลิป มกุฎราชกุมารแห่งเบลเยี่ยม เสด็จเยี่ยมชมสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ ในฐานะทูตสันถวไมตรีขององค์การยูนิเซฟ พร้อมคณะ เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมต้อนรับ ณ สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า เจ้าชายฟีลิป มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรเบลเยี่ยม พร้อมด้วยเจ้าหญิงมาทิลด์ พระชายา ทรงมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๖ ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในการนี้ สถานเอกอัครราชทูตเบลเยี่ยมประจำประเทศไทย ได้ขอความร่วมมือกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ถวายการต้อนรับเจ้าหญิงมาทิลด์ ในฐานะทูตสันถวไมตรีขององค์การยูนิเซฟ พร้อมคณะ เพื่อทรงปฏิบัติพระกรณียกิจส่วนพระองค์เยี่ยมชมกิจกรรมการดำเนินงานของสถานคุ้มครอง และพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ ซึ่งการเสด็จฯครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ ๒ หลังจากการเสด็จฯครั้งแรก ในฐานะทูตสันถวไมตรีขององค์การยูนิเซฟ เมื่อปี ๒๕๔๔

นายสันติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับวันนี้ เจ้าหญิงมาทิลด์ แห่งราชอาณาจักรเบลเยี่ยม จะเสด็จฯเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์พัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ ดังนี้ ๑) แผนกการช่างประดิษฐ์ ชมการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากฝีมือผู้รับการคุ้มครองฯ เช่น การถักโครเชผ้าคลุมโต๊ะ ผ้าคลุมไหล่ สาธิตการร้อยพวงมาลัยดอกเข็มกับดอกพุด เป็นต้น ๒) แผนกจักสาน ชมการจักสานกระเป๋า ตระกร้า จากเส้นพลาสติกรูปแบบต่างๆ และทรงร่วมกิจกรรมทำเดคูพาจกระเป๋าจักสาน ๓) แผนกนวดแผนไทย ชมการนวดฝ่าเท้า เพื่อบำบัดอาการต่างๆ และการรักษาภาวะสมดุลของร่างกาย ๔) แผนกตัดเย็บ ชมผลิตภัณฑ์จากการตัดเย็บ อาทิ การตัดเย็บชุดนอน เสื้อ การทำพรมเช็ดเท้า ผ้าเช็ดมือ กระเป๋า เป็นต้น ๕) ห้องพัฒนาการเด็ก เป็นห้องสำหรับกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง ๕ - ๑๑ ปี ๖) กิจกรรมห้องแรกรับ ชมกิจกรรมศิลปะบำบัดการวาดภาพโดยใช้อุปกรณ์สีน้ำ สีชอล์ค และแท่งชาร์โคล ซึ่งเป็นเมนูกิจกรรมหนึ่ง ในการบำบัด ฟื้นฟู ทางด้านจิตใจให้กับผู้รับการคุ้มครองฯ ๗) แผนกกี่กระตุก ชมขั้นตอนการทอผ้าขาวม้าและผ้าคลุมไหล่ และ ๘) แผนกคหกรรม ชมการสาธิตแกะสลักฟักทอง สาธิตการทำอาหารคาวหวาน เช่น ช่อม่วง ปอเปี๊ยะจิ๋ว จ่ามงกุฎ เสน่ห์จันทร์ ไก่ห่อใบเตย เป็นต้น

นายสันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ หรือที่รู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่งว่า “บ้านเกร็ดตระการ” จัดตั้งเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๐๓ สังกัดสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก (สปป.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทำหน้าที่ให้บริการสังคมครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก หญิงที่มีอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ที่ต้องเข้ารับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ หรือหญิงที่มีอายุเกิน ๑๘ ปี ที่สมัครใจเข้ารับการคุ้มครอง กลุ่มที่ ๒ หญิงและเด็กทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ตามพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ และกลุ่มที่ ๓ หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาสังคม บ้านเกร็ดตระการสามารถรองรับให้บริการแก่ผู้รับการคุ้มครองได้ปีละประมาณ ๔๐๐ คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ได้แก่ ที่พักอาศัย อาหาร ๓ มื้อ การรักษาพยาบาลเบื้องต้น การบริการให้คำปรึกษา โดยนักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ การฟื้นฟู ปรับสภาพจิตใจ การศึกษา ในระบบการศึกษานอกโรงเรียน ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษา ตอนปลาย กิจกรรมนันทนาการและสังคม ตลอดจนทักษะการดำรงชีวิต ในปัจจุบัน บ้านเกร็ดตระการมีผู้รับการคุ้มครอง รวมทั้งสิ้น ๒๖๓ คน แบ่งเป็น คนไทย ๑๓๙ คน คนลาว ๕๘ คน คนพม่า ๓๗ คน คนกัมพูชา ๒๘ คน และคนเวียดนาม ๑ คน ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองกลุ่มเป้าหมายให้มีการพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อการก้าวสู่สังคมอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป -กภ-