ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. ริเริ่มโครงการ “PGD Assistant Program” 5 ปี กับการ “ให้ชีวิต” ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

18 Dec 2012

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี

คงไม่อาจจะมีใครปฏิเสธได้ว่า “ลูก” แม้จะเป็นเพียงแค่คำสั้นๆ แต่ก็แฝงเอาไว้ด้วยความหมายมากมายเหลือเกิน เพราะนอกจากจะมาช่วยสานฝันชีวิตคู่ให้มีความสุขแล้ว ยังมาช่วยเติมเต็มความเป็นครอบครัวให้สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง แต่ปัจจุบันหลากหลายครอบครัวต้องประสบกับปัญหาการมีบุตรยาก และยิ่งไปกว่านั้นยังมีภาวะความเสี่ยงต่อการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมสู่ลูกน้อย ซึ่งในปัจจุบันโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกมีมากกว่า 1,000 ชนิด โดยศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที.สามารถป้องกันได้มากกว่า 170 โรคหรืออีกนัยหนึ่งคือโรคที่เกิดจากความผิดปกติจากยีนเดี่ยว ซึ่งโรคทางพันธุกรรมที่เราคุ้นหูกันดีคือ โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งในประเทศไทยเราพบว่า ในคนไทย 10 คน จะมีผู้ที่เป็นพาหะมากถึง 4 คน แม้คนในครอบครัวจะไม่เคยมีประวัติธาลัสซีเมียมาก่อน เด็กแรกเกิดที่เป็นโรคนี้มีมากถึง 12 คนต่อเด็กแรกเกิด 1,000 คน หรือประมาณ 10,000 รายต่อปี นั่นหมายถึงเด็กที่เป็นโรคนี้ นอกจากจะต้องทรมานจากอาการของโรคแล้ว เด็กจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการถ่ายเลือดตลอดทั้งชีวิต

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการ “PGD Assistant” ของ ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนที่มีผลสำเร็จด้านอัตราการตั้งครรภ์ในระดับสากลและมีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ด้วยเล็งเห็นว่า “การป้องกันก่อนการเกิด มีค่ามหาศาลกว่าการแก้ไข” โดยโครงการนี้เกิดขึ้นด้วยเพราะเจตนารมย์ของศูนย์ที่มีความประสงค์จะลดการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ สู่ลูกที่จะเกิดมาให้ปลอดโรค และเพิ่มโอกาสให้เด็กที่ป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมียมีชีวิตกลับเข้าสู่ปกติเฉกเช่นเด็กทั่วไป

นางสาวสรญา เจียรนันทะ ผู้จัดการอาวุโสแผนกสื่อสารองค์กร เปิดเผยว่า โครงการ “PGD Assistant” ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยทางศูนย์มีเจตนารมย์เพิ่มเติมว่า เราต้องการที่จะมีโครงการช่วยเหลือสังคมได้มากกว่าที่กำลังทำอยู่ ซึ่งสิ่งที่เราทำได้สูงสุดและเป็นการช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ คือ การให้ชีวิตและการเปลี่ยนชีวิตที่ทรมาน ให้กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กปกติ การจัดตั้งโครงการดังกล่าว จะเป็นการช่วยลดเปอร์เซ็นต์ของการเกิดโรคธาลัสซีเมีย หรือที่เรียกอย่างเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า การตัดตอน เพื่อให้เด็กที่เกิดมาปลอดโรคทางพันธุกรรมต่างๆ รวมถึงไม่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีคุณสมบัติที่ตรงกับหลักเกณฑ์การพิจารณา อาทิ เกณฑ์ทางการแพทย์ สถานภาพทางการเงิน หรือ ปัจจัยอื่นๆ และเมื่อเราได้คัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว เราจะใช้เทคนิคของศูนย์มาช่วยเหลือ วิเคราะห์ วินิจฉัย โดยการประสานงานทั้งทางทีมแพทย์ ทีมนักวิทยาศาสตร์

“นอกเหนือจากโครงการ “PGD Assistant” แล้ว 5 ปีที่ผ่านมา ทางศูนย์ได้ช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด โดยเราพยายามที่จะช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสซึ่งน้อยครั้งที่ความช่วยเหลือจากผู้คนในเมืองใหญ่จะเข้าไปถึง และทางทีมงานของทางศูนย์อยากเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านองค์กรใดๆ เพื่อที่เราจะได้สัมผัสกับความลำบากที่พวกเขาเป็นและอิ่มใจกับความสุขที่ได้จากการเป็นผู้ให้โดยตรง เช่น การแจกยา และสิ่งของจำเป็นให้กับเด็กกำพร้า หรือแม้กระทั่งการแจกผ้าห่มให้กับชาวบ้านในอำเภอที่กันดารที่สุดและถูกหลงลืมในจังหวัดอุดรธานี” นางสาวสรญากล่าว

ทางด้าน นายแพทย์ สมเจตน์ มณีปาลวิรัตน์ ผู้อำนวยการแพทย์และสูตินารีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธ์การมีบุตรยาก ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที ได้อธิบายถึง โครงการ “PGD Assistant” ในเชิงการแพทย์ว่า โดยปกติแล้ว พ่อแม่ จะมีการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมไปสู่ลูก ซึ่งมีมากมายหลากหลายโรค หรือคุณแม่ที่มีปัญหาการแท้งซ้ำซาก มีปัญหาการตั้งครรภ์ ดังนั้นการวางแผนการมีบุตรจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันของศูนย์ซูพีเรีย ทำให้สามารถที่จะตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อนจากผลการตรวจอย่างละเอียดในระดับยีน เพื่อคัดตัวอ่อนที่พันธุกรรมผิดปกติออกไป การใช้วิธีเด็กหลอดแก้วร่วมกับพีจีดี จะช่วยให้มีตัวอ่อนปลอดโรคย้ายกลับสู่ครรภ์มารดา ในอีกกรณีหนึ่งคือ ผู้ป่วยเด็กที่ป่วยเป็นโรคธาลัส ซีเมีย ซึ่งมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของพ่อแม่ผู้เป็นพาหะสู่ลูก ผู้ป่วยเด็กมีโอกาสรักษาให้หายได้ด้วยการใช้เซลล์ต้นกำเนิด หรือสเตมเซลล์ที่ปลอดจากโรคธาลัสซีเมีย และมีเนื้อเยื่อที่เข้ากันได้มารักษา ด้วยเทคโนโลยี PGD ร่วม กับ PCR (Polymerase Chain Reaction) สำหรับการตรวจภาวะของโรคธาลัสซีเมียในตัวอ่อนร่วมกับ การตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อระหว่างพี่และน้อง (HLA Matching) ทำการคัดกรองตัวอ่อนและจับคู่เนื้อเยื่อที่ตรงกันแล้วนำตัวอ่อนย้ายกลับเข้าไปในมดลูกของแม่เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ เมื่อแม่ให้กำเนิดบุตร จึงสามารถเก็บ สเตมเซลล์จากรกและสายสะดือ ซึ่งถือเป็นเซลล์ต้นกำเนิดจากเด็กคนนี้ เพื่อนำไปใช้ในการรักษาบุตรคนพี่ได้ เพราะเด็กคนนี้ได้ผ่านกระบวนการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย และผ่านกระบวนการตรวจความเข้ากันของเนื้อเยื่อมาแล้วในระดับตัวอ่อน จึงมั่นใจได้ว่าสเตมเซลล์ดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้รักษาบุตรผู้ที่เป็นโรคได้

หากเราให้ความใส่ใจ โดยมีการวางแผนสำหรับ ครอบครัว และวางแผน สำหรับ “ลูก” ให้ถูกวิธี นับเป็นการป้องกันปัญหาที่ให้ผลลัพท์ที่ยิ่งใหญ่ มากมายกว่าการแก้ปัญหา กับ 1 ชีวิต ที่ไม่มีวันจบสิ้น หรือในความผิดพลาดที่ไม่คาดหวัง โครงการ “PGD Assistant” จึงเป็นเสมือนโครงการที่จุดประกายให้กับหลายครอบครัว ให้มีโอกาสได้ร่วมแก้ไข และร่วมสร้างชีวิตใหม่ เพื่อไม่ทำให้คำว่า “ลูก” ที่ต้องลืมตามาดูโลกมีคำว่า“โรค” ติดตัวมา

-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit