พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุเสด็จประทานทุนการศึกษาและทรงเปิดงาน “15 ปีจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน”ทรงห่วงใยพยาบาลชุมชนขาดแคลน รับสั่งให้กำลังใจผู้ปฎิบัติหน้าที่ในชนบท
“พยาบาล” เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน โดยปัจจุบันมีจำนวนพยาบาลทั้งหมดประมาณ 100,000 คน แต่ความต้องการกลับมีสูงถึง 135,000 คน ยังขาดแคลนอยู่มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งพยาบาลชุมชน ทั้งๆที่มีเยาวชนจำนวนมากอยากเป็นพยาบาลแต่มีปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์
โครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” เป็นทางออกหนึ่งที่เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนเยาวชนเหล่านี้ โดยบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค ร่วมกับ สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2540 นับเป็นเวลาถึง 15 ปีแล้ว เพื่อมอบทุนการศึกษาช่วยเหลือเยาวชนที่ด้อยโอกาสในชนบทแต่มีความตั้งใจจริงและรักวิชาชีพพยาบาล
เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี โครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” ในปี 2555นี้ ทางโครงการฯได้จัดพิธีมอบทุนการศึกษารุ่นที่ 13 จำนวน 20 ทุน พร้อมจัดประชุมวิชาการ “15 ปี จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงเปิดงานและประทานทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลที่ได้รับทุน โดยมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมควร หาญพัฒนชัยกูร ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท จีเอสเค พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดงาน และพยาบาลจากทั่วประเทศกว่า 400 คน เฝ้ารับเสด็จ ณ อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ซ.ศูนย์วิจัย เมื่อเร็วๆนี้
ในโอกาสนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุทรงรับสั่งห่วงใยภาวะการขาดแคลนพยาบาลชุมชน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา พร้อมทรงรับสั่งให้กำลังใจแก่พยาบาลชุมชนในโครงการฯ ที่สำเร็จการศึกษาและปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกล ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยัน อดทน และอยากให้กลับมาฟื้นฟูวิชาการและความรู้ด้านสาธารณสุขใหม่ๆบ้างเมื่อมีโอกาส
นพ.สมควร หาญพัฒนชัยกูร ผู้อำนวยการ สถาบันพระบรมราชชนก เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่โครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึง 15 ปีแล้ว เพราะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เราผลิตบัณฑิตพยาบาลและกลับไปทำงานพื่อชุมชนได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ห่างไกลยังคงมีอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบสุขภาพอย่างมาก จากที่อยู่อาศัยอยู่ห่างไกลศูนย์บริการสาธารณสุข ทำให้การบริการด้านสุขภาพยังคงไม่ทั่วถึง และเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่ง พยาบาลชุมชนนั้นมีความสำคัญมากในการพัฒนาสาธารณสุขระดับรากหญ้า ที่จะช่วยให้คนไทยในชนบทมีความเข้าใจและสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหากพยาบาลเป็นคนในท้องถิ่นเองก็จะมีความเข้าใจถึงปัญหาพื้นฐาน และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งพยาบาลชุมชนยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาด้านอนามัยชุมชนเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นพ.สมควร กล่าว
นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท จีเอสเค เปิดเผยว่า นับเป็นเวลาถึง 15 ปี ที่โครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน โครงการนี้ตั้งขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภาวะการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพในท้องถิ่นห่างไกล และประชาชนจำนวนมากยังประสพความยากต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในเมืองใหญ่ โดยตลอดระยะเวลา 15 ปี (ปี 2540-2555) โครงการฯได้มอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลแล้ว 13 รุ่น ทั้งสิ้น 552 ราย โดยอยู่ระหว่างการศึกษา 40 ราย และสำเร็จการศึกษาเป็นพยาบาลวิชาชีพแล้ว 512 ราย ซึ่งพยาบาลเหล่านี้ได้ออกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสำนักงานสาธารณสุข กว่า 150 แห่ง ในพื้นที่ 52 จังหวัดทั่วประเทศ ไปดูแลพี่น้องในชุมชนด้านสุขภาพอย่างใกล้ชิด ทำให้ชุมชนและคนในท้องถิ่นทุรกันดาร ได้รับการดูแลรักษาที่ดี มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการเข้าถึงการมีสุขภาพดีของคนไทยได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น” นายวิริยะ กล่าว
นอกจากนี้ในปี 2555 ทางจีเอสเค สำนักงานใหญ่ ยังได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของโครงการนี้ จึงได้มอบเงินจำนวน 65,000 เหรียญยูโร (ประมาณ 2.7 ล้านบาท) เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพของพยาบาลชุมชนให้ต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชนต่อไป ดังนั้น สถาบันพระบรมราชชนก และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีในแต่ละภาค จึงจัดโครงการฝึกอบรม “15 ปี จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” สัญจรไปในพื้นที่ต่างๆทั้ง 4 ภาค คือ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย ภาคอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่น ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา และภาคกลางที่กรุงเทพฯ ซึ่งโครงการฝึกอบรมพยาบาลเพื่อชุมชนที่จัดขึ้นนี้ จะช่วยให้ผู้อบรมมีความเข้าใจในบทบาทพยาบาลกับการทำงานเพื่อชุมชนภายใต้จิตบริการ ที่ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาชุมชน ทั้งยังทำให้รับรู้ถึงประสบการณ์การทำงานเพื่อชุมชนในพื้นที่ต่างๆ อย่างแท้จริง
น.ส.เกศิริรนทร์ โรจมณเทียร หรือ น้องเก๋ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี เล่าว่า “ที่บ้านยากจนมาก ต้องไปอาศัยวัดอยู่กับคุณแม่ซึ่งป่วยเป็นโรคไตและความดันโลหิตสูง โดยมีหลวงตาเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ให้การอุปถัมภ์ ให้คุณแม่ทำงานในครัวของวัด แม่อยากให้เรียนพยาบาลเพราะจะได้ช่วยดูแลแม่ได้ หนูดีใจมากที่ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน เพราะทุนนี้จะช่วยให้หนูเรียนได้อย่างมีความสุข และยังแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของแม่ได้ ซึ่งหนูจะตั้งใจเรียน เมื่อจบออกมาแล้วจะได้ดูแลแม่ที่ป่วย ได้ทำงานเพื่อสังคม และชุมชนที่หนูรัก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุในชุมชนของหนู อยากให้พวกเขามีสุขภาพที่แข็งแรงค่ะ”
นายอภิสิทธิ์ ย้อยดวงชัย หรือ น้องโก้ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น บอกว่า “ผมภูมิใจมากที่ได้มาเรียนพยาบาล เพราะพยาบาลเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งมันทำให้เราอิ่มอกอิ่มใจที่ได้เห็นคนที่เราเหลือมีความสุข แต่ฐานะทางบ้านของผมไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ต้องยืมค่าเรียนจากญาติๆ อยู่เสมอ เมื่อได้รับทุนการศึกษาจากโครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน ผมก็ดีใจและภูมิใจมาก เพราะทุนนี้จะช่วยผมในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผมได้เป็นอย่างดี และผมสามารถเรียนได้อย่างสบายใจขึ้นด้วย ความเครียดน้อยลง ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องหยุดเรียนอีกต่อไป เมื่อเรียนจบผมจะได้กลับไปทำงานในชุมชนของผมที่จังหวัดสกลนคร ผมอยากจะช่วยเหลือให้คนในชุมชนของผมมีสุขภาพดี และมีความสุขครับ”
นางสาว อุมาพร ปัดดาห์ นักศึกษาพยาบาล ปี 1 จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่ หนึ่งในผู้ได้รับทุนการศึกษาโครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” รุ่นที่ 13 กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากที่ได้รับทุนจีเอสเคพยาบาลเพื่อชุมชน เนื่องจากครอบครัวของตนค่อนข้างยากจน ตนเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่อายุ 4- 5 ขวบ ต้องอาศัยอยู่กับคุณตาคุณยายซึ่งมีอาชีพเป็นเกษตรกร มีรายได้จากการทำนาและทำไร่ข้าวโพด ตนมีความใฝ่ฝันอยากเป็นพยาบาลมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่สมัยเรียนประถม แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ ตนอยากเป็นพยาบาลเพราะจะได้ช่วยดูแลสุขภาพของคุณตาคุณยาย ซึ่งอายุมากและสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง และการที่เราเป็นพยาบาลชุมชน ยังได้มีโอกาสกลับไปช่วยเหลือเรื่องสุขภาพของคนในชุมชนตัวเองอีกด้วย ซึ่งตนเป็นชาว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เมื่อไม่สบายมักจะไม่ยอมไปโรงพยาบาล เพราะบ้านอยู่ห่างไกลตัวเมืองกว่า 20 กิโลเมตร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ จะได้มีส่วนช่วยให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ขึ้นค่ะ”
นอกจากนี้ ยังมีพยาบาลรุ่นพี่ จากโครงการฯ ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ หลังจากเรียนจบและได้ปฏิบัติงานในท้องถิ่นของตนเอง
เริ่มต้นจากพี่คนโตของโครงการฯ นางญาดา ชุมนุมพร้อม พยาบาลในโครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” รุ่นที่ 1 ปี 2540 ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ที่ รพ.เชียงคำ จ.เชียงราย เล่าว่า “พ่อแม่ยากจน พ่ออยากให้เรียนพยาบาลจะได้ดูแลพ่อแม่และได้ช่วยเหลือผู้คน แต่ขัดสนด้านเงิน โชคดีที่มี “โอกาส” ได้ทุนจาก โครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน หลังเรียนจบก็ได้มาดูแลชุมชนบ้านเกิดและนำความรู้มาเผยแพร่ต่อ เพราะนอกจากงานพยาบาลแล้ว ดิฉันก็ยังมีโอกาสได้ ส่งตรงความรู้ด้านสุขภาพสู่ชุมชนผ่านรายการวิทยุ โดยเป็นวิทยากรจิตอาสาให้ความรู้กับประชาชนในรายการวิทยุของโรงพยาบาล ช่วง “ท่องโลกสุขภาพกับ รพ.เชียงคำ” ทุกวันอาทิตย์ 07.00-08.00 น. เพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยส่งตรงความรู้ถึงชุมชนได้เป็นอย่างดี...ต้องขอบคุณพ่อแม่ที่ชี้ทางที่ดีที่สุดในชีวิตให้ ขอบคุณครูอาจารย์ที่ชี้แนะ...ขอบคุณ โครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน ที่ให้โอกาสได้เป็นพยาบาลที่ดีจนทุกวันนี้”
นางสาวสิริจรรยา สงวนกัน พยาบาลเพื่อชุมชน รุ่นที่ 6 ของโครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน ปัจจุบันทำงานที่โรงพยาบาลสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เล่าว่า เราทำตามความฝันของแม่ด้วยการสอบเข้าเรียนพยาบาลและดิฉันก็ทำสำเร็จ...ภูมิใจที่เลือกเดินทางนี้ ที่ทำให้ได้รับโอกาสดีๆ จากโครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน จึงตั้งใจเรียน เพื่อจะได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด หลังจากเรียนจบ เริ่มทำงานในทีม Home healthcare ที่รพ.สังขละบุรี ไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเรื้อรังที่ไม่มาตรวจตามนัด รวมถึงผู้ป่วยที่พิการหรือที่มีปัญหาต่างๆ ตามชายแดนไทย-พม่า แรกๆ มีอุปสรรคด้านภาษา แต่ก็ได้ญาติ หรือผู้ป่วยด้วยกันช่วยเป็นล่ามให้...แม้จะต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา เราก็อยู่ร่วมกันในสังคมได้ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นภาพที่น่ารักหาดูได้ยาก ต่อมาได้เป็นสมาชิกของ พอ.สว. จึงมีโอกาเข้าถึงชุมชนห่างไกลมากขึ้น บางครั้งต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าไปพื้นที่ เพื่อเข้าดูแลคนป่วยที่ลี้ภัยเข้ามา จากเหตุปะทะของชนกลุ่มน้อย ทั้งระเบิด ทั้งเสียงปีน ดังระงม น่ากลัวเหมือนในละครที่เคยดู แต่เราก็ต้องพร้อมที่จะช่วยเหลืออยู่ทุกเวลา...วิชาชีพพยาบาลหล่อหลอมให้ดิฉันเข้มแข็ง แรงบันดาลใจคือการได้ช่วยเหลือสังคม มันคือความสุขและความภูมิใจ ที่ทำให้ดิฉันปฏิบัติงานต่อไปด้วยความตั้งใจ และไม่หยุดนิ่งที่จะหาความรู้
น.ส.เสาวคนธ์ บุญทองจันทร์ พยาบาลในโครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” รุ่นที่ 2 ปี 2541 ปัจจุบันเป็นพยาบาลประจำ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง บอกว่า “จากเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่มีความฝันว่าจะได้เป็นพยาบาล จนมาในวันนี้ฝันเป็นจริงแล้ว ด้วยทุนการศึกษาจาก โครงการ จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน...การทำงานในชุมชนเป็นงานที่ท้าทาย เป็นงานที่สนุก เมื่อเราสนุกกับงานเราก็ไม่รู้สึกเบื่อ โดยจากประสบการณ์การทำงานในชุมชนมากว่า 10 ปี ทำให้เราเข้าใจคนในชุมชนมากขึ้น ซึ่งการทำงานในชุมชนจะประสบความสำเร็จได้ เราต้องได้ใจของคนในชุมชนก่อน ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของคนในชุมชนมีการสร้างเครือข่ายสุขภาพ ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยบุคคลเหล่านี้จะเป็นแกนนำสำคัญที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ...ความสุขของเราคือการได้ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเหล่านั้นหายจากความเจ็บป่วย มีความสุขที่ได้เห็นความพยายามของผู้ป่วยที่อยากจะหายเป็นปกติ...จากวันนี้ พรุ่งนี้ และวันต่อๆ ไป จะตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด เพื่อให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี เป็นชุมชนพึ่งตนเองได้ และนำไปสู่ชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป”
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
กลุ่มตรีเพชร โดย บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท ฟาอีส ยูไนเต็ด มอเตอร์สปอร์ต จำกัด บริษัท ต.สยาม คอมเมอร์เชียล จำกัด บริษัท ไพโอเนียร์ เอ็นจิเนียริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ริซไวส์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และบริษัท บี.เจ.มอเตอร์พาร์ท จำกัด ร่วมกันระเบิดศึกอีซูซุ ดีแมคซ์ รวม 19 คัน เพื่อชิงตำแหน่งเจ้าแห่งความเร็วในการแข่งขัน ISUZU ONE MAKE RACE 2025 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ชิงรางวัลถ้วยประทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่น สุทธนารีนาถ พร้อมเงินรางวัลรวม 200,000 บาท