ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล นักการเงินแห่งปี 2555

12 Dec 2012

กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--วารสารการเงินธนาคาร

วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2555 ที่กำลังวางแผงในขณะนี้ได้ประกาศผลการตัดสิน รางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี” ประจำปี 2555 (Financier of the Year 2012) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับ ผู้บริหารในแวดวงการเงินการธนาคารตลาดเงินตลาดทุน ที่มีผลงานโดดเด่นและมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ครบถ้วน โดยในปีนี้คณะกรรมการตัดสินรางวัล “นักการเงินแห่งปี” ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ มอบรางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี” ประจำปี 2555 ให้กับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล นับเป็นผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยรายที่สองที่ได้รับรางวัล นักการเงินแห่งปี ในรอบ 30 ปี ตั้งแต่ การเงินธนาคาร ริเริ่มรางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี” มาตั้งแต่ปี 2525 ต่อเนื่องติดต่อกันมาถึง 30 ปี เพื่อยกย่องนักการเงินที่มีความโดดเด่นในแวดวงการเงินการธนาคาร ด้วยการกลั่นกรองและพิจารณาอย่างเข้มข้นของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากการติดตามผลงานและการพัฒนาที่เกิดขึ้นในวงการธนาคารและการเงิน โดยยึดหลักเกณฑ์การพิจารณานักการเงินแห่งปี ใน 4 ด้านที่ การเงินธนาคาร กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนักการเงินแห่งปี โดย ดร.ประสาร มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การคัดเลือก นักการเงินแห่งปี ทั้ง 4 ข้อคือ

1. เป็นนักการเงินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย

ดร.ประสาร เข้ารับตำแหน่งที่ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 และจากประสบการณ์ทั้งในหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่สั่งสมมากว่า 30 ปี ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย ภายใต้บริบทเศรษฐกิจโลกที่มีการปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการ ผสมผสานเครื่องมือทางด้านนโยบายการเงิน เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งยังได้จัดทำ”แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและเงินตราต่างประเทศ” เพื่อให้การหมุนเวียนของเงินทุนเข้าออกระหว่างประเทศของไทยมีความสมดุลมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว

ดร.ประสารยังได้ ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) เพื่อจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแห่งแรกในเอเชียที่ประเทศไทย (Technical Assistance Office) เพื่อช่วยเหลือประเทศเพื่อบ้าน ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากนี้ยังได้จัดตั้ง สำนักงานตัวแทนธปท. ในประเทศจีน ซึ่งจะเป็นผู้นำในการสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในภูมิภาค

2.เป็นนักการเงินมืออาชีพ ที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ

ดร.ประสาร แสดงถึงภาวะผู้นำได้อย่างชัดเจนในหลายสถานการณ์ บริหารความสมดุลของบทบาทหน้าที่ธนาคารกลางความมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน กับ ข้อเสนอแนะและความต้องการของนโยบายทางการเมือง เพราะตระหนักถึงความมั่นคงและการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติตลอดเวลา รวมทั้งวางแนวทางการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้มีความยืดหยุ่นแต่ยังคงยึดวัตถุประสงค์หลักตามที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน

ดร.ประสารได้ทำหนังสือลงวันที่ 9 มกราคม 2555 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อแสดงความเห็นต่อการออกพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ เพื่อแก้ไขหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งส่งผลให้มีการกำหนดแนวทางแก้ไขหนี้กองทุนฟื้นฟูฯที่ชัดเจน คือ โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯให้ธปท.บริหาร ขณะที่การชำระหนี้มาจากเงินกำไรสุทธิ ธปท.ไม่น้อยกว่า 90 %เพื่อชำระเงินต้น และส่วนหนึ่งจากการเก็บเงินนำส่งจากธนาคารพาณิชย์ซึ่งคำนวณจากฐานเงินฝากในอัตรา0.47%

3. เป็นนักการเงินที่สร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์กร

ดร.ประสารและพนักงาน ธปท.ทุก ถือเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของธนาคารกลางที่ดี ที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกันกับทุกฝ่ายถึงทิศทางนโยบาย และแนวคิดที่มาของนโยบาย เพื่อสร้างเสริมให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของ ธปท. จึงได้จัดให้มีการแถลงสื่อสารต่อประชาชน ถึงแนวทางการดำเนินนโยบายเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่เข้าทำหน้าที่ รวมไปถึงยังมุ่งที่จะทำให้ธปท.เป็นทางเลือกแรกของนิสิตนักศึกษา และผู้มีประสบการณ์ความรู้ความสามารถให้มาร่วมงาน เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ

4. เป็นนักการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

ดร.ประสาร ไม่เคยมองข้าม “สังคม” เพราะการมุ่งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย คือ การดูแลประชาชนคนไทย หรือ สังคมนั่นเอง จึงสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีบริการทางการเงินที่มีคุณภาพ หลากหลาย ทั่วถึง ในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ยังได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ได้ดีขึ้น ซึ่งนำมาสู่การเลือกใช้ได้ตรงกับความต้องการ โดยได้เปิด ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ให้บริการในลักษณะ One-touch service เน้นทำงานทั้งเชิงรับและเชิงรุก อาทิ การรับและดูแลเรื่องร้องเรียนด้านการบริการของสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ ผ่านสายด่วนหมายเลข 1213

-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net