ไทยตั้งเป้าส่งออกพม่าปี 56 โต 30% ส่งนำทัพเอกชนกว่า 220 ราย ปูทางขยายลู่ทางการค้า 2 เมืองสำคัญ ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ 10 วัน หวังโกยกว่า 40 ล้านบาท ชี้ตลาดอาเซียนปี 56 ยังเติบโตกว่า 10%

07 Dec 2012

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมคณะผู้บริหารภาครัฐและเอกชน ร่วมงานแสดงสินค้าไทยแลนด์ เทรด เอ็กซิบิชั่น ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ระหว่างวันที่ 6 - 9 ธันวาคม 2555 และที่เมืองมัณฑะเลห์ ระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม 2555 เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าและแสดงศักยภาพสินค้าและบริการไทยให้เป็นที่รู้จักและนิยมอย่างกว้างขวางในตลาดพม่า คาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายภายในงานทันทีและภายหลังการจัดงานตลอด 1 ปีกว่า 41 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกในอาเซียนขยายตัวในปี 2556 ไม่น้อยกว่า 10%

สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานมีจำนวน 220 ราย รวม 259 คูหา โดยเป็นสินค้าอุปโภคและบริโภค ได้แก่ สินค้าอาหารและเครื่องดื่มเข้าร่วมงานมากที่สุด คือ 62 ราย รองลงมาเป็นกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม 52 ราย ส่วนสินค้ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ สินค้าชิ้นส่วนและวัสดุก่อสร้าง สินค้าของใช้ภายในบ้าน สินค้าเครื่องหนังและรองเท้า สินค้าอะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

“การจัดงานในครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมได้พบกับคู่ค้าในตลาดพม่า เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก สร้างทัศนคติที่ดีต่อสินค้าและบริการไทยทั้งด้านรูปแบบ คุณภาพและความหลากหลายของสินค้า”นายสมเด็จ กล่าวและว่า สำหรับการค้าระหว่างไทยกับพม่า ในช่วง 10 เดือนแรก(ม.ค.-ต.ค.)ของปี 2555 คิดเป็นมูลค่ารวม 5,465 ล้านเหรียญสหรัฐฯ( 170,344 ล้านบาท) โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 2,546 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 2,919 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 7% “นายสมเด็จ กล่าว

นายประจวบ สุภินี ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุงย่างกุ้ง พม่า กล่าวว่า ปีหน้าตลาดพม่ายังคงคึกคักมากเช่นเดียวกับปีนี้ ดูได้จากกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุนทั้งในส่วนของสำนักงาน กำหนดจัดเทรดโปรโมชั่น และกิจกรรมจากภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดว่าจะมีการจัดคณะธุรกิจไปพม่ารวมกว่า 40 – 50 คณะ ซึ่งวัตถุประสงค์ คือ การเข้าไปศึกษาลู่ทางธุรกิจ และการหาโอกาสจับคู่ค้าทางธุรกิจท้องถิ่น

“ในปี 2556 สำนักงานฯจะจัดคาราวานไปยังเมืองสำคัญ 7 เมือง เช่น ยะไข่ ตองจี เมาะลำไย เป็นต้น รวมถึงร่วมกับตัวแทนภาคเอกชนของพม่า ที่มีสมาชิกกว่า 20,000 ราย การตั้งสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศพม่า เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและแสวงหาลู่ทางการค้าการลงทุนในทุกมิติ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรระหว่างสองประเทศ เพื่อสร้างพันธมิตรและเครือข่าย โดยเน้นเมืองรองสำคัญ ซึ่งจะทำให้การค้าการลงทุนของไทยขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกไทยไปพม่าขยายตัวในปี 2556 ไม่น้อยกว่า 30%”นายประจวบ กล่าว

ทั้งนี้สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง ปูนซิเมนต์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผ้าผืน เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค กล้อง เลนส์และอุปกรณ์การถ่ายรูป ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูป ข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้ง พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น

ตลาดพม่าเป็นตลาดใหม่ขนาดใหญ่มีประชากรหนาแน่นราว 60 ล้านคน ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางกลุ่มประเทศอาเซียน และเอเซียใต้ มีอาณาเขตติดกับจีน อินเดีย บังคลาเทศ ลาว และไทย ทำให้มีความได้เปรียบในการติดต่อทางการค้า การส่งออกและนำเข้า รวมทั้งการส่งสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศต่างๆ นอกจากนี้พม่ายังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เหมาะแก่การเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรม

การพัฒนาตลาดของพม่าในอนาคตจะพัฒนามากขึ้น จากการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน และขนาดตลาดพม่ามีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับตลาดของไทย ซึ่งไทยสามารถใช้พม่าเป็นประตูระบายสินค้าของไทยสู่ประเทศที่สาม รวมทั้งใช้พม่าเป็นฐานในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกในอนาคต อย่างไรก็ตามแรงงานของพม่าส่วนใหญ่ยังขาดผู้ที่มีความรู้ในด้านการทำธุรกิจต่างประเทศ ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ประกอบกับกฎระเบียบทางการค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และพม่ายังมีอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศสูง อุปสรรคของการพัฒนาตลาดพม่าคือ พม่ายังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย ทำให้ขาดข้อมูลด้านการตลาด รวมทั้งข้อมูลด้านการเงินของพม่าที่สมบูรณ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยนำข้อมูลไปใช้ประกอบในการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

โทร.(02) 507-7932-34 -กภ-