เขื่อน กฟผ. มีปริมาณน้ำรวม 43,545 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีก่อนร้อยละ 19 แต่สามารถส่งน้ำป้อน 2โครงการชลประทานขนาดใหญ่ เพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้ตามแผน

03 Jan 2013

กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--กฟผ.

เขื่อนใหญ่ กฟผ. มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวม 43,545 ล้าน ลบ.ม. เป็นปริมาณน้ำใช้งานได้ 20,501 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้ว 9,982 ล้าน ลบ. ม. หรือร้อยละ 19 อย่างไรก็ตาม กฟผ. สามารถบริหารจัดการน้ำ เพื่อส่งให้ โครงการชลประทานเจ้าพระยา และ โครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกพืชช่วงฤดูแล้งได้ตามแผน

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ในช่วงต้นปี 2556 ณ วันที่ 2 มกราคม 2555 เวลา 24.00 น. ว่า มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ทั้งหมด 43,545 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุ น้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 19 หรือ 9,982 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้ 20,501 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มต้นการระบายน้ำฤดูแล้ง 3,324 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำทุกแห่งที่มีพื้นที่ชลประทานท้ายน้ำ มีการระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามแผนจัดสรรน้ำ ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯ ลดลงตามลำดับ และมีช่องว่างในอ่างฯ สำหรับรับน้ำในช่วงฤดูฝนต่อไป

ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า โครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำ กฟผ. 2 โครงการ คือ โครงการชลประทานเจ้าพระยา รับน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธ์ เริ่มการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 – 30 เมษายน 2556 และโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ ซึ่งรับน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ เริ่มการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2556 นอกจากนี้ ยังมีโครงการชลประทานอื่นๆ ที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2555 – 31 พฤษภาคม 2556 และภาคใต้ซึ่งยังอยู่ในช่วงฤดูฝนจะเข้าสู่ฤดูแล้งในเดือนมีนาคม 2556

สำหรับเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีแผนการระบายน้ำเพื่อโครงการชลประทานเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้งปี 2555/56 จำนวน 6,800 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบัน (ตั้งแต่ 1 พ.ย. 55– 2 ม.ค.56) ระบายน้ำไปแล้ว 2,709 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของแผนทั้งหมด ยังเหลือปริมาณน้ำต้องระบายตลอดฤดูแล้งอีก 4,091 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนทั้งสองยังมีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกัน 6,776 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะระบายตลอดฤดูแล้งนี้

ปัจจุบัน เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 57 มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 3,921 ล้าน ลบ.ม. มีแผนการระบายน้ำช่วงฤดูแล้งประมาณ 3,500 ล้าน ลบ.ม. และได้ระบายน้ำไปแล้ว (ตั้งแต่ 1 พ.ย.55 – 2 ม.ค.56) 1,351 ล้าน ลบ.ม. ยังเหลือปริมาณน้ำต้องระบายตลอดฤดูแล้งอีก 2,149 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 60 มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 2,855 ล้าน ลบ.ม. มีแผนการระบายน้ำช่วงฤดูแล้งประมาณ 3,300 ล้าน ลบ.ม. และได้ระบายน้ำไปแล้ว (ตั้งแต่ 1 พ.ย.55 – 2 ม.ค.56) 1,358 ล้าน ลบ.ม. ยังเหลือปริมาณน้ำต้องระบายตลอดฤดูแล้งอีก 1,942 ล้าน ลบ.ม. หลังสิ้นสุดการระบายน้ำฤดูแล้ง คาดว่าเขื่อนทั้งสองจะมีปริมาณน้ำใช้งานได้ในอ่างฯ ประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการอุปโภคและบริโภคในช่วงต้นฤดูฝนที่มักจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง

ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ มีแผนการระบายน้ำเพื่อโครงการชลประทานแม่กลองช่วงฤดูแล้งปี 2555/56 (1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2556) จำนวน 7,000 ล้าน ลบ.ม. โดยปริมาณน้ำส่วนหนึ่งในจำนวนนี้จะผันมาช่วยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ปัจจุบันเขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 87 และเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 82 รวมปริมาณน้ำใช้งานได้ในเขื่อนทั้งสอง 9,393 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอที่จะระบายตามแผน โดยปัจจุบันกำลังเริ่มต้นการระบายน้ำช่วงฤดูแล้ง

“การเพาะปลูกในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วง 2 เดือน ที่ผ่านมา ตามข้อมูลจากกรมชลประทาน พบว่ามีพื้นที่เพาะปลูกไปแล้ว 5.83 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 61 ของพื้นที่ที่วางแผน แบ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทาน 4.63 ล้านไร่ หรือร้อยละ 82 ของแผน ข้าวนาปรังนอกเขตชลประทาน 1.04 ล้านไร่ หรือร้อยละ 28 ของแผน ที่เหลือเป็นพืชไร่-พืชผัก โดยการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำสามารถทำได้ตามแผน คาดว่าหากไม่มีการเปิดพื้นที่เพาะปลูกเกินกว่าแผนที่วางไว้ จะมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะจัดสรรตลอดฤดูแล้ง ตลอดจนมีน้ำสำรองไว้ใช้ยามจำเป็น” ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวทิ้งท้าย-กภ-