ฮอร์ติเอเชีย ชี้ช่องทางผู้ประกอบการธุรกิจกล้วยไม้ไทย ต้องเน้นคุณภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่ม

10 Jan 2013

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--มีเดีย พลัส คอนเนคชั่น

ฮอร์ติเอเชีย ชี้ช่องทางผู้ประกอบการธุรกิจกล้วยไม้ไทย ต้องเน้นคุณภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มพร้อมชูเทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บและการขนส่งสินค้า

ฮอร์ติเอเชีย (Horti ASIA) จัดงานสัมมนา ’เกษตรกรก้าวหน้า’ ครั้งที่ 3 ที่จังหวัดนครราชสีมา แนะแนวทางเติบโตให้กับผู้ประกอบการธุรกิจกล้วยไม้ไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มความหลากลายของสายพันธุ์ และเน้นส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเพื่อการส่งออกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่ช่วยควบคุมต้นทุน ลดการสูญเสีย เพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนอง ความต้องการในตลาดกล้วยไม้โลก

จากการสัมมนาเกษตรกรก้าวหน้าในหัวข้อ “ก้าวหน้า ก้าวไกล ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปศุสัตว์ และพืชผล” ครั้งที่ 3 ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจัดโดยบริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ผู้จัดงาน แสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้แห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ Horti ASIA ระบุว่า จากนโยบายผลักดันกล้วยไม้เพื่อการส่งออกของภาครัฐ ที่ตั้งเป้าหมายไว้หนึ่งหมื่นล้านบาทภายในปี 2559 ที่เริ่มต้นมา ตั้งแต่ปี 2554 นั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับท้ังปัจจัยภายนอก และภายในประเทศ

ตลาดกล้วยไม้ไทยจะยังคงศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกได้นั้น จะต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้ากล้วยไม้ที่มีอายุความสดใหม่ค่อนข้างสั้น และบอบช้ำได้ง่ายจึงต้องให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อการเก็บรักษาเท่านั้น แต่จะต้องสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอื่นๆ ได้ อาทิเช่น ความสวยงาม ของบรรจุภัณฑ์ รวมถึงกระบวนการจัดเก็บสินค้า และการคมนาคมขนส่ง เพื่อให้สินค้ากล้วยไม้มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน การส่งออกภายในต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภค มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยต้องการความแปลกใหม่และหลากหลาย ดังนั้นการเพาะพันธุ์กล้วยไม้ใหม่ๆ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความหลากหลาย และการหมุนเวียนพันธุ์ เพื่อไม่ให้ตลาดเกิดภาวะหยุดนิ่ง ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจกล้วยไม้ไทยจะต้องพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตสินค้าที่ดีของตนอยู่เสมอ

นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด กล่าวว่า “ กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกประมาณ 20,000 ไร่ และเกษตรกรพร้อมทั้ง ผู้ประกอบการอีกกว่า 3,000 ครัวเรือน ทำให้ไทยสามารถส่งออกทั้งกล้วยไม้ตัดดอกเป็นอันดับสองรองจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และส่งออกต้นกล้วยไม้มากเป็นอันดับสองรองจากประเทศไต้หวัน โดยมีปริมาณการส่งออกกล้วยไม้ไทยเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ทว่ามูลค่าของการส่งออกกลับลดลงเรื่อยๆ หมายความว่า ขายของได้มากขึ้น แต่ได้เงินน้อยลง ซึ่งสาเหตุนั้นมาจากการเติบโตของตลาดกล้วยไม้โลก โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีน และอินเดียที่เป็นตลาดส่งออกกล้วยไม้ของไทยที่มีการเติบโตค่อนข้างสูง แต่เป็นการเติบโตในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ ราคาที่ได้ไม่สูงมากนัก แต่หากเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจกล้วยไม้ไทยหันมาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นช่องทางที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้มากขึ้นได้อีก อย่างไรก็ตามจะต้องศึกษาถึงลักษณะความต้องการใช้กล้วยไม้ และปริมาณความต้องการที่แท้จริงของตลาดด้วยเช่นกัน” ด้านนายเจตน์ มีญาณเยี่ยม นายกสมาคมผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทย และเจ้าของสวนกล้วยไม้ไทย เปิดเผยว่า การผลิตกล้วยไม้เชิงธุรกิจหรือเพื่อการค้าจะต้องมีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานเป็นการเบื้องต้นก่อน รวมถึงเรื่องเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิต การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง และการตลาด ซึ่งผู้ประกอบการส่วนมากละเลย ก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาอันได้แก่ ต้นทุนในการผลิตสูง การสูญเสียผลผลิตระหว่างการขนส่ง ในขณะที่ราคาที่ขายได้ไม่สูงนัก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากระบบการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกล้วยไม้มีจุดเด่นที่ความสวยงาม แต่ดอกกล้วยไม้นั้นมีอายุสั้น และเป็นรอยช้ำได้ง่าย ดังนั้นกระบวนการรักษา และการขนส่งจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในส่วนของบรรจุภัณฑ์นั้นจะต้องสามารถป้องกันการกระแทก และรักษาความชิ้นของกล้วยไม้ได้อย่างดี ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับสินค้าได้โดยการสร้างรูปแบบความสวยงามของบรรจุภัณฑ์ หรือแม้แต่การติดฉลากหรือสัญลักษณ์ต่างๆ อาทิเช่น ฉลากที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (eco-labels) หรือตราส่งเสริม การตลาดอื่นๆ เช่น สัญลักษณ์การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าชื่อดังต่างๆ หรือการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เป็นต้น

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกกล้วยไม้ไทยควรหาแนวทางการผลิตใหม่ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตลงตั้งแต่ระดับต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ รวมถึงการเพาะพันธุ์กล้วยไม้ใหม่ๆ โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความหลากหลาย และการหมุนเวียนพันธุ์ เพื่อไม่ให้ตลาดเกิดภาวะหยุดนิ่ง ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถปรับตัว และพัฒนาศักยภาพสินค้าของตนได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็น่าจะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับประเทศไทย ที่จะเป็นฐานการผลิต และส่งออกกล้วยไม้ที่สำคัญในการเป็นศูนย์กลางกระจายการส่งออกกล้วยไม้ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก จากปัจจุบันประเทศไทยก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกล้วยไม้รายใหญ่ โดยมีตลาดหลักที่สำคัญ ๆ เช่น สหภาพยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม จากศักยภาพและจุดแข็งของกล้วยไม้ไทยทั้งในด้านสายพันธุ์ที่มีความหลากหลาย ความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ของกล้วยไม้เขตร้อน และการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ก็มีความเป็นไปได้มากที่กล้วยไม้ไทยจะเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ในตลาดจีน ซึ่งปัจจุบันเราส่งออกพันธุ์ที่มีราคาไม่สูงทำให้มูลค่าการส่งออกไม่สูงตาม เนื่องจากชาวจีนส่วนใหญ่ ยังไม่รู้จักกล้วยไม้ไทยพันธุ์อื่นๆ หากมีการเร่งทำตลาด นำพันธุ์ที่ได้ราคาสูงเข้าไปแนะนำ ก็มีโอกาสขยายตัว 10 – 12 % นายเจตน์ กล่าวเสริม

“สำหรับท่านใดที่มีความสนใจในการเสริมสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตร สามารถเข้าชมงาน แสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้แห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ Horti ASIA ได้ในระหว่างวันที่ วันที่ 9 - 11 พฤษภาคม 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งหากเกษตรกร และผู้ประกอบการทั้งหลายสามารถเข้าถึงนวัตกรรม และเทคโนโลยี ต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานระดับโลกได้ และนำไปปรับปรุง พัฒนาการกระบวนการผลิตของตน ก็เชื่อว่าในอนาคตธุรกิจพืชสวนไทยจะสามารถปรับตัว เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้โดยง่าย” นางลัดดากล่าวสรุป

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน Horti ASIA 2013 www.hortiasia.net

เกี่ยวกับ บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด

เป็นบริษัทชั้นนำที่เกิดจากการจับมือระหว่างสองบริษัทมืออาชีพด้านการสร้างสรรค์ และบริหารงานแสดงสินค้าระดับสากล คือ บริษัท ทีซีซี เอ็กซิบิชั่นส์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด และบริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ ยุโรป มีความเชี่ยวชาญในการจัดงานแสดงสินค้าที่เอื้อให้การพบปะทางการค้า และการเจรจาทางธุรกิจเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการจัดงานแสดงสินค้า นิทรรศการ และการประชุม ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร เป็นผู้จัดงาน VIV Asia งานแสดงเทคโนโลยีปศุสัตว์ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การขยายพันธุ์ การเลี้ยง และการแปรรูป เนื้อสัตว์ และงาน Aquatic Asia งานแสดงสินค้าและสัมมนาด้านอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชีย – แปซิฟิค จัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี พร้อมงาน VIV Asia

บริษัทฯ มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และสำนักงานสาขาที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และสำนักงานธุรกิจนานาชาติในกรุงเทพมหานคร บริษัทฯ เป็นเจ้าของงานแสดงสินค้าในเบลเยี่ยม จีน อินเดีย เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย ไทย ตุรกี เวียดนาม พม่า และอินโดนิเซีย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.vnuexhibitionsap.com

-กผ-