ฟิทช์: ธนาคารในภูมิภาคมีสัดส่วนในระบบธนาคารไทยเพิ่มมากขึ้น

10 Jul 2013

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์

ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า ธนาคารต่างประเทศ โดยเฉพาะจากเอเชียแปซิฟิค กำลังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในระบบธนาคารไทย ดังจะเห็นได้จากการที่ธนาคาร โตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd.’s (BTMU)) แสดงความจำนงในการซื้อหุ้น 75% ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY, BBB/เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวก)

หากการซื้อหุ้นดังกล่าวสำเร็จลุล่วง จะส่งผลให้สัดส่วนของธนาคารต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 26% ของสินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย จากเดิมที่ 18% และจะส่งผลให้ BAY เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ หรือเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังถือเป็นกรณีแรกที่มีการอนุมัติให้ต่างประเทศถือหุ้นในธนาคารไทยได้เกิน 49% โดยไม่เกี่ยวกับการฟื้นฟูสถานะทางการเงินของธนาคาร หรือเป็นการขายหุ้นของธนาคารโดยรัฐบาล เนื่องจาก BAY เป็นธนาคารที่มีกำไรที่ดีอยู่แล้ว และธุรกรรมนี้จะเป็นการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นภาคเอกชน ฟิทช์เชื่อว่า การผ่อนผันดังกล่าว อาจเกิดขึ้นได้จากเหตุผลที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงในประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีสัดส่วน 30-40% ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยในแต่ละปี ช่วง 2544-2555

เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศจะพิจารณาอนุมัติการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศรายใหม่ ไม่เกิน 5 ราย โดยจะได้รับอนุญาตให้มีสาขาไม่เกิน 20 สาขา และ ATM ไม่เกิน 20 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่ากรณีของสาขาธนาคารต่างประเทศ แต่ยังไม่เท่ากับธนาคารพาณิชย์ ฟิทช์คาดว่า ผู้ที่สนใจสมัครน่าจะเป็นธนาคารในเอเชียที่เป็นรายใหม่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ในปี 2554 ธปท.ได้เปิดการพิจารณาให้สาขาธนาคารต่างประเทศที่มีอยู่ในประเทศไทย ขออนุญาตเปลี่ยนสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ (สาขาไม่เกิน 20 สาขา และ ATM ไม่เกิน 20 แห่ง) แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีสาขาธนาคารต่างประเทศแห่งใดที่มีการเปลี่ยนสถานะ

ธนาคารไทยอีกแห่งหนึ่งที่กำลังเป็นเป้าหมายของการซื้อกิจการ ได้แก่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของประเทศ มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ธนาคาร ไอเอ็นจี (ING Bank N.V.) (30%) และกระทรวงการคลัง (26%) ซึ่งกำลังพิจารณาขายหุ้นในธนาคาร โดยมีรายงานข่าวว่ามีธนาคารในเอเชียแสดงความสนใจ หากมีการซื้อกิจการจากผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสองรายดังกล่าว จะส่งผลให้ TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ (อย่างน้อยเกิน 50%) เป็นต่างประเทศอีกรายหนึ่ง

ธนาคารพาณิชย์ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นต่างประเทศส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะมีผู้ถือหุ้นเป็นธนาคารในเอเชีย โดยสอดคล้องกับแผนการขยายธุรกิจในภูมิภาคของธนาคารเหล่านี้ รวมถึงโอกาสในการเติบโตจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ในปี 2558 เหตุผลหนึ่งของการที่ BTMU ต้องการลงทุนใน BAY คือการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong sub-region (GMS)) อันประกอบไปด้วย 6 ประเทศ มีประชากรรวมกัน 323 ล้านคน และมี GDP รวมกัน 1.2% ของ GDP โลก

ฟิทช์ไม่เชื่อว่า การเข้ามาเป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่อันดับ 5 ของ BTMU จะส่งผลกระทบต่อสถานะการเป็นผู้นำตลาดของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ของไทย 4 รายแรก ในระยะสั้นถึงระยะกลาง ทั้งนี้ ปัจจุบัน BAY ก็เป็นผู้นำในตลาดของธุรกิจสินเชื่อรายย่อยอยู่แล้ว โดยเฉพาะธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และบัตรเครดิต อย่างไรก็ดี กลุ่มสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ของ BAY อาจได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์กับลูกค้ากลุ่มญี่ปุ่น แต่สินเชื่อกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นไม่ได้เป็นสัดส่วนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ไทย

ฟิทช์เชื่อว่า BTMU และธนาคารพาณิชย์ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นธนาคารต่างประเทศ น่าจะมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยในด้านธุรกิจภายในภูมิภาค ซึ่งธนาคารพาณิชย์ใหญ่ของไทยยังไม่ได้มีการขยายธุรกิจออกไปอย่างมีสาระสำคัญ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ถือว่ามีการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศมากกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยอื่นๆ โดยมีสำนักงานสาขา/ตัวแทนอยู่ใน 11 ประเทศในเอเชียมาเป็นระยะเวลานาน ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยแห่งอื่นๆมักมีนโยบายการลงทุนในภูมิภาคที่ค่อยเป็นค่อยไป และมีการพิจารณาคัดเลือก โดยมักจะเป็นการสนับสนุนการค้าการลงทุนของลูกค้าไทย และมุ่งเน้นกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หรือจีน ทั้งนี้ ในระยะยาว โอกาสการเติบโตอันเกิดจากความร่วมมือและการรวมตัวกันของเศรษฐกิจในภูมิภาค อาจเป็นแรงกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ไทยให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจในภูมิภาคมากขึ้น หรืออาจหาผู้ร่วมทุน (strategic partners)

ประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง โดย 4 แห่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นธนาคารต่างประเทศซึ่งได้รับอนุมัติให้ถือหุ้นได้เกิน 49% ได้แก่ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) (A-/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ), ธนาคารยูโอบี (ไทย) จำกัด (มหาชน) (A-/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ), ธนาคารซีไอเอ็มบี (ไทย) จำกัด (มหาชน) (BBB/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ), และธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) (AAA(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และยังมีสาขาธนาคารต่างประเทศอีก 15 แห่ง รวมถึงมีธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศอีก 1 แห่ง

-กผ-