กรมป่าไม้สร้างวิกฤตไม้พะยูงเป็นโอกาส

11 Apr 2013

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--กรมป่าไม้

ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือ ผู้ประทับอยู่เคียงข้างพระองค์ในทุกหนทุกแห่งที่เสด็จพระราชดำเนิน ทรงรับสนอง พระราชดำริ เอาพระราชหฤทัยใส่ ทรงห่วงใย และทรงอุปถัมภ์งานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ป่าไม้” มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น โครงการป่ารักษ์น้ำ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการป่าเฉลิมพระเกียรติ โครงการธงพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต เป็นต้น เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าต้นน้ำลำธาร ให้กลับฟื้นคืนสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า “เนื่องจาก 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม้พะยูงเป็นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงในตลาด ทำให้มีความต้องการมาก ดูจากสถิติที่ผ่านมา ปี 2553-2555 การลักลอบตัดไม้พะยูงในเชิงคดี ที่เราจับกุมดำเนินคดีมีมากขึ้นตามลำดับ ปี 2553 ประมาณ 231 คดี ปี 2554 ประมาณ 939 คดี และในปี 2555 ประมาณ 1,162 กว่าคดี ก็แสดงว่าสังคมเริ่มให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการจับไม้พะยูงมากขึ้น เพราะโดยกฎหมายแล้ว มติคณะรัฐมนตรีออกมาชัดเจนว่า ห้ามนำเขาและส่งออกไม้พะยูง”

พะยูงเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 15-25 เมตร เปลือกสีเทาเรียบ มักขึ้นอยู่ในป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณชื้นทั่วไป โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พลัดใบในหน้าแล้ง ออกดอกประมาณเดือนพฤษภาคม –กรกฎาคม ผลเป็นฝักและจะแก่ราวเดือนกรกฎาคม – กันยายน เนื้อไม้จะมีสีแดงอมม่วง – แดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียดแข็งแรง ทนทาน ขัดและชัดเงาได้ดี ใช้ทำเครื่องเรือน เกวียน เครื่องกลึง แกะสลัก ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด และแม้แต่ช้อน ส้อมด้วยกัน

แต่ในปัจจุบันค่านิยมผิดๆ เกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องมงคลนามของไม้พะยูง ซึ่งหมายถึงการพยูงฐานะให้ดีขึ้น ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าง่าย รายได้ดี และไม่ต้องลงทุน ในการลักลอบตัดไม้พะยูงในแต่ละครั้ง ชาวบ้านจะได้ค่าจ้างท่อนละ 200–300 บาท ซึ่งบางรายนั้นนายทุนจะดาวน์รถกระบะและให้ชาวบ้านผ่อนคืนด้วยไม้พะยูง ในขณะที่ถ้าไม้พะยูงนั้นเข้าสู่ตลาดค้าไม้ มันจะมีราคาสูงถึง ลบ.ม ละ 200,000 บาท แต่ถ้าสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ ราคาจะแพงขึ้นอีกหลายเท่าตัว

อธิบดี เผยต่อว่า กรมป่าไม้ได้สนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโดยมุ่งเน้นด้านการเร่งปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะ “ไม้พะยูง” ซึ่งเป็นไม้มงคลที่หายาก และมีราคาสูง ซึ่งถูกลักลอบตัดโค่นไปเป็นจำนวนมาก โดยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูงสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้จำนวนมาก ไม้พะยูงจัดเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญและสามารถปลูกได้ในหลายพื้นที่ เนื่องจากเป็นไม้ที่โตค่อนข้างช้า ดังนั้นต้นพะยูงจึงไม่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเท่าที่ควรในการปลูกสร้างสวนป่าอย่างจริงจัง ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดการปลูกไม้ชนิดนี้ให้ประสบความสำเร็จกรมป่าไม้ยังได้ดำเนินโครงการนำไม้พะยูงคืนสู่ถิ่นกำเนิด คือ บริเวณตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดยโสธร จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดอำนาจเจริญ โดยเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมโครงการปลูกไม้พะยูงและไม้มีค่าหายากขนาดใหญ่ฟื้นฟูพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ถูกบุกรุกเพื่อทำการเกษตร พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมตามธรรมชาติ และการปลูกป่าเสริมป่าในพื้นที่ที่เกิดไฟป่าหรือถูกลักลอบตัดไม้

ด้านนายสุธน กมลบูรณ์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานป่าไม้ กล่าวว่า “จังหวัดหนองบัวลำภูส่งเสริมไป 900 กว่าราย ปลูกไปทั้งหมด 1,100 กว่าไร่ ส่วนมาก 95% เป็นไม้สัก ประดู่ มะค่า และไม้พะยูงประมาณ 4%”

แม้ว่าในช่วงแรกๆ ของการส่งเสริมการปลูกต้นพะยูงนั้นจะยังไม่ค่อยได้รับความสนจากประชาชนเท่าใดนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนเห็นกล้าไม้เหล่านี้เจริญเติบโตก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้คือความพอใจของเกษตรกรทุกคน คุณลุงบัวพันธ์ บุญอาจ เป็นเกษตรกรอีกคนหนึ่งที่นำกล้าไม้สักและกล้าไม้พะยูงมาปลูกในพื้นที่การเกษตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ซึ่งถือว่าเป็นเวลานานกว่า 17 ปีแล้ว ที่คุณลุงบัวพันธ์เฝ้าคอยให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และในขณะเดียวกันนี้ก็ยังคงมีเกษตรกรผู้คิดต่างอีก 1 คน ในปี 2537 คุณน้าสงเดช บุญอุ้ม เลือกที่จะปลูกไม้พะยูงลงบนพื้นที่การเกษตรของตนเอง เพียงเพราะคิดว่าอยากจะทดลองเพียงเท่านั้น กาลเวลาผ่านไปคุณน้าสงเดชสุขใจกับผืนป่าพะยูงแห่งนี้มาก แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผืนป่าที่กว้างขวางใหญ่โตมากนัก แต่คุณน้าก็สุขใจที่ได้เห็นพวกมันเจริญเติบโต ตั้งแต่ต้นกล้าเล็กๆ จนเติบใหญ่กลายเป็นร่มเงาและนำมาใช้ประโยชน์ได้ในต่อไป

พะยูงไม้ที่ทรงคุณค่าที่สร้างประโยชน์ให้อย่างอเนกอนันต์ ในวันนี้ได้ถูกทำลายไปเป็นอย่างมากจากน้ำมือมนุษย์ แต่ก็คงจะไม่สายไปในวันนี้ หากทุกคนเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนวิถี “จากผู้ทำลาย กลายเป็นผู้สร้าง” ให้ผืนป่าพะยูงเหล่านี้ได้เจริญเติบโตแตกกิ่งก้านสาขาไว้ให้เป็นร่มเงาของลูกหลานพวกเราต่อไป

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net