ภารกิจจุดประกายโคนมยุคใหม่ ความท้าทายของ อ.ส.ค. ต่อความมั่นคงด้านอาหารของชาติ

04 Apr 2013

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--เดอะบิ๊กพอตเตอร์ คอมมิวนิเคชั่น

อาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ถือเป็นอาชีพพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีสายพระเนตรอันกว้างไกลที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรชาวไทยมีความมั่นคงทางด้านอาหารเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว นมไทย-เดนมาร์ค ถือเป็นผลิตผลที่สำคัญของ องค์กรส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) องค์กรหลักที่ทำหน้าที่บ่มเพาะให้เกิดอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย กระทั่งปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกว่า 23,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ส่งผลเป็นความมั่นคงทางด้านอาหารของภูมิภาค เอเชีย สมดังพระราชดำริของ “พระบิดาแห่งการเลี้ยงโคนมไทย”

นอกจากส่งเสริมด้วยองค์ความรู้ที่ อ.ส.ค. ได้ลงมือพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะพี่เลี้ยงของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมแล้ว ภารกิจหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีพเกษตรกร คือ การส่งต่อแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นกับเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความเข้าใจกระทั่ง รักอาชีพการเลี้ยงโคนมให้เกิดขึ้น เพื่ออย่างน้อยอนาคตของชาติเหล่านี้จะเป็นเสาหลักสำคัญของความมั่นคงอาหารอย่างยั่งยืนในที่สุดนั่นจึงเป็นที่มาของโครงการบ่มเพาะเยาวชนโคนมยุคใหม่ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการจุดประกายความรักและสนใจในอาชีพเกษตรกรโคนม และเกิดแรงบันดาลใจ ที่จะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สืบสานอาชีพการเลี้ยงโคนมให้ยั่งยืนในพื้นที่ส่งเสริมการเลี้ยงโคนม อ.ส.ค.ทั้ง 4 ภาค มุ่งเน้นนักเรียนในสังกัดโรงเรียนมัธยม 15 โรงเรียน ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 และจะสิ้นสุดโครงการในปี 2559

นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ อัมพวันวงศ์ หัวหน้ากองพัฒนาการเลี้ยงโคนม ฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม ผู้ดูแลโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นได้ให้รายละเอียดว่า ที่ผ่านมาพบว่าแนวโน้มตัวเลขของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ส่งเสริมมีจำนวนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยหลักไม่ใช่เพราะความไม่มั่นคงของอาชีพการเลี้ยงโคนม แต่เป็นเพราะลักษณะการทำงานฟาร์มโคนมต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันภายในฟาร์ม ไม่มีวันหยุดทำให้ลูกหลานเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหลังจากจบการศึกษามักไม่ได้มาสืบทอดกิจการ เป็นเหตุให้เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องเลิกกิจการไปในที่สุด“โครงการนี้ต้องการจุดประกายให้กับเด็กมัธยมในพื้นที่ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมของ อ.ส.ค. ทั้ง 4 ภาคเกิดความรัก ความเข้าใจในอาชีพนี้ มีเป้าหมายใน 15 โรงเรียนมัธยม เราคาดหวังให้อาชีพนี้เป็นทางเลือกที่สามารถเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวได้ เช่นเดียวกับที่พ่อแม่ของเขาทำมา และส่งเสียให้เขามีการศึกษา มีความรู้สำเร็จในที่สุด”

แรงบันดาลใจที่ว่าได้ออกแบบผ่านกิจกรรมทั้งหมด 4 ฐาน ฐานแรก “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวรอด” เป็นนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกิจการฟาร์มโคนมของประเทศไทยที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ให้ความรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของนมโคสดแท้ การบริหารจัดการภายในฟาร์มที่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวได้

ฐานที่ 2 “โคนมรักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นฐานที่เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการกระบวนการผลิตของฟาร์มโคนมทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หรือจนถึงมือผู้บริโภคว่าทั้งหมดในกระบวนการสามารถบริหารจัดการให้กลายเป็นต้นทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ เช่น หญ้าที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ,มูลโคภายในฟาร์ม , จนไปถึงกล่องนมที่สามารถนำมารีไซเคิ้ลเป็นหลังคารักษ์โลกร้อนได้

ฐานที่ 3 “นมจากเต้าเรามีฟาร์ม” ฐานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการรีดน้ำนมจากเต้านมยาง เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำนมคุณภาพ ลดการสูญเสีย ตลอดจนวิธีการตรวจสอบคุณภาพน้ำนมดิบที่ได้มาตรฐาน และการดูแลโคนมหลังการรีดน้ำนมแล้ว

ฐานที่ 4 “บ่วงบาศก์ชาวโคบาล” กิจกรรมแนว Adventure ที่ช่วยสร้างความประทับใจกับเยาวชนกว่า 150 ชีวิตที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นฐานที่มีวิทยากรจาก อ.ส.ค.มาสาธิตวิธีการล้มโคนมด้วยการใช้บ่วงบาศนั่นเอง

เมื่อถามถึงความคาดหวังต่อโครงการนี้ นสพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ไม่ได้คาดหวังให้น้องๆเยาวชนทุกคนต้องหันมาประกอบอาชีพเกษตรกรทั้งหมด เพราะในโรงเรียนเป้าหมายพื้นที่ทั้ง 4 ภาคของ อ.ส.ค.นั้นจะมีเยาวชนอยู่ 2 กลุ่มที่เข้ารับการอบรม คือ กลุ่มที่มีพ่อแม่เป็นเกษตรกรอยู่แล้วและกลุ่มที่ครอบครัวไม่ได้เป็นเกษตรกรเลี้ยงโคนม ความคาดหวังต่อโครงการนี้เพียงต้องการให้เยาวชนกลุ่มนี้มั่นใจในอาชีพเกษตรกรเลี้ยงโคนมว่าสามารถเป็นอาชีพที่มั่นคงให้กับครอบครัวเขาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ครอบครัวเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอยู่แล้ว หากเขาคิดว่าจะสามารถเลือกเรียนต่อในสาขาวิชาที่กลับมาต่อยอดกิจการ เช่น สัตวแพทย์ คณะเกษตร หรืออื่นๆ ที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายเกษตรกร โคนมในอนาคต แม้สัก 1% ก็ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จแล้ว

ทางด้านนางศจี โต๊ะวนิชรักษา รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานวิชาการ โรงเรียนมวกเหล็กวิทยา โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่ปีแรก เล่าว่า ตั้งแต่ อ.ส.ค. ได้ขอความร่วมมือในการจัดอบรมโครงการดังกล่าวนั้น โรงเรียนซึ่งมีเด็กนักเรียนที่ผู้ปกครองเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีสัดส่วนกว่าครึ่ง ได้เข้าร่วมโครงการเพราะเห็นถึงประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับ

โดยยังได้พูดถึงตัวอย่างของนักเรียนที่ครอบครัวเป็นเกษตรกรและได้เข้าอบรมโครงการนี้แล้วเด็กคนนั้นได้ตัดสินใจศึกษาต่อในสาขาวิชาที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดกับกิจการที่บ้านได้ “เด็กคนหนึ่งที่จบไปเขาไปเรียนต่อสัตวแพทย์ แล้วกลับมาประจำอยู่ที่มวกเหล็กพ่อแม่เขามีฟาร์มด้วย ซึ่งครูมองว่าเขาได้กลับมาอยู่กับบ้าน ได้พัฒนาบ้านเกิดตัวเอง ส่วนอีกคนหนึ่งพอจบ ม. 6 แล้วเขาไม่ได้ไปต่อไหนเข้ารับช่วงต่อกิจการพ่อแม่ของเขาทันที ซึ่งตอนนี้ฟาร์มของเขาขยายมีแม่พันธุ์โคนมที่สามารถรีดนมเพิ่มขึ้นเป็น 100 ตัว ซึ่งครูมองว่าแม้วันนี้เราไม่รู้ว่าเขาจะกลับมาทำอาชีพนี้หรือไม่ แต่อย่างน้อยเขาก็รู้ว่าอาชีพเกษตรกรโคนมที่ครอบครัวเขาทำนั้น สามารถสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวของเขาในอนาคตได้”

น้องแป้ง น.ส.อรพิน อกอุ่น นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมวกเหล็กวิทยา ที่เข้าร่วมโครงการนี้ มาจากครอบครัวที่บ้านเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม แป้งเล่าให้ฟังว่าลากถังรีดนมโคตามแม่ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ได้รับมอบหมายให้ช่วยงานในฟาร์มตั้งแต่อยู่ชั้น ป.4 จนปัจจุบันงานประจำจะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 5.00 น.ของทุกวันที่ต้องเตรียมเครื่องรีดนม เตรียมอาหารโคนมและรอโคเข้าล็อครีดนม ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของพ่อและแม่ในการดูแลการรีดนมต่อ จากนั้นเธอจะมาเตรียมอาหารเช้าสำหรับครอบครัวและอาบน้ำแต่งตัวรอไปโรงเรียน “ที่บ้านเช่าพื้นที่ของราชพัสดุ ที่จัดสรรสำหรับเกษตรกรทำกินในพื้นที่ 1 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับ ที่พักอาศัย 50 ตร.ว. โรงเรือนเลี้ยงโคนม 50 ตร.ว. เป็นพื้นที่เก็บอาหารสัตว์ 50 ตร.ว. ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ปลูกหญ้า ที่ยังปลูกไม่ได้ เพราะพื้นที่บ้านเราน้ำไม่ค่อยดี มีแม่พันธุ์โคนมที่รีดน้ำนมได้ 20 ตัว ได้น้ำนมดิบต่อวันประมาณ 150 กิโลกรัม ที่เข้าร่วมอบรมในวันนี้ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการให้อาหารหยาบ แก่โคนมว่าต้องให้ในปริมาณเท่าใด ในแต่ละช่วงซึ่งต้องให้ความสนใจเอาใจใส่กับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะอาหารหยาบนั้นจะช่วยให้คุณภาพของน้ำนมดีขึ้น กว่าการให้อาหารข้นอย่างเดียว ฟังแล้วอยากจะไปปลูกหญ้าเนเปียร์ ไต้หวันเพิ่มที่บ้านค่ะ” น้องแป้งเล่า

เมื่อถามถึงความมั่นคงของอาชีพนี้แล้วน้องแป้งตอบอย่างมั่นใจว่ารายได้ของครอบครัวตอนนี้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วมีเหลือกว่า 40,000 บาท สามารถส่งเสียตนและน้องสาวให้มีอนาคตและการศึกษาที่ดีได้แน่นอน โดยเด็กสาวยังย้ำว่า หากสามารถกลับมาสานต่ออาชีพนี้ได้ เชื่อว่าจะสามารถสร้างครอบครัวเธอให้เป็นปึกแผ่นได้แน่นอน

โครงการบ่มเพาะเยาวชนโคนมยุคใหม่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 แต่ละปีจะมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการราว 2,250 คน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาจะมีเยาวชนผ่านการอบรมแล้วกว่า 6,700 คน ในจำนวนนี้ เป้าหมายหลักคาดหวังให้เยาวชนเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพเกษตรกรรมของไทย เพียง 1 % ก็จะสามารถทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นชาติที่ความมั่นคงด้านอาหารแห่งภูมิภาคในที่สุด นี่คือภารกิจที่ท้าทายอย่างยิ่งของ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ค

สอบถามข้อมูลประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมได้ที่ บริษัท เดอะบิ๊กพอตเตอร์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 0-2987-6939

-นท-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net