MPA นิด้าหวั่น กนง.หั่นดอกเบี้ยนโยบายเสียของ! ชี้ ‘ส่วนต่าง’ ดอกเบี้ยอุปสรรคกระตุ้นเศรษฐกิจ-จี้ดูแลสเปรดแบงก์พาณิชย์

28 May 2013

กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์

ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) จี้แบงก์ชาติดูแลส่วนต่าง (สเปรด) ดอกเบี้ยแบงก์พาณิชย์ หวั่น กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่จะกลายเป็นเสียของเปล่าๆ หากแบงก์พาณิชย์ไม่ตอบสนองต่อการตัดสินใจของ กนง. หรือตอบสนองด้วยการลดดอกเบี้ยตาม แต่ลดในอัตราส่วนที่น้อยกว่า ย้ำหากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนการลงทุน ต้องดูแลส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากแบงก์พาณิชย์ให้เหมาะสม

รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (MPA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประกาศอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสแรกปี 2556 ที่มีการเติบโต 5.3% ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ทำให้มีการประเมินว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ กนง.อาจจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท รวมถึงยังทำให้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการค้า การลงทุน และการส่งออกของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงว่า แม้ว่า ที่ประชุม กนง. จะตัดสินใจปรับลดนโยบายดอกเบี้ยลงมา แต่ก็อาจจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ทุกฝ่ายตั้งความหวังไว้ โดยเฉพาะในส่วนของภาคการลงทุนและการส่งออก ที่เป็นฟันเฟืองของเศรษฐกิจที่อาจจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้เต็มที่ หากธนาคารพาณิชย์ที่ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคเอกชน ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย

ทั้งนี้ หลายครั้งที่ผ่านมาจะพบว่า ภายหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ธนาคารพาณิชย์มักจะปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงมาในอัตราเท่ากับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ฝั่งดอกเบี้ยสินเชื่อเงินกู้ กลับปรับลดลงมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งทำให้ภาระต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนไม่ได้ลดลงอย่างที่ควรจะเป็น

“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ไม่ว่าจะเป็น 0.25% หรือ 0.50% จะไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่การค้าการลงทุนของภาคเอกชน ไม่ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาเท่ากับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยมุ่งหวังแต่ผลกำไรของธนาคารมากกว่า ทำให้ภาคเอกชนไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างที่ควรจะเป็น” รศ.ดร.มนตรี กล่าว

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่แบงก์ชาติต้องทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินในประเด็นดังกล่าว โดยดูแลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเงินกู้และเงินฝาก (สเปรด) ของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเอื้อต่อการให้ภาคเอกชนลงทุน และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้-กภ-