ศูนย์วิจัยภัยพิบัติ NIDA เผยกรุงเทพฯ มีสารก่อมะเร็งในอากาศสูงกว่ามาตรฐานกว่า 2 เท่า

02 May 2013

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์

ศูนย์วิจัยภัยพิบัติ NIDA เผยกรุงเทพฯ มีสารก่อมะเร็งในอากาศสูงกว่ามาตรฐานกว่า 2 เท่าชี้ประชาชนย่านเคหะชุมชนดินแดง-สถานีตำรวจโชคชัย 4-การไฟฟ้าธนบุรี เสี่ยงสุด

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ NIDA เผยกรุงเทพฯ ติดเมืองเสี่ยงรับสารพิษก่อมะเร็งในอากาศลำดับที่ 13 ของเอเชีย จากการตรวจพบสารก่อมะเร็งในฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เกินค่ามาตรฐานกว่า 2 เท่า ระบุประชาชนพื้นที่บริเวณการเคหะชุมชนดินแดง สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย 4 และการไฟฟ้าย่อยธนบุรี เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งในปอดสูงสุด จากสาเหตุควันพิษไอเสียจากยานยนต์บนท้องถนน หลังใช้ซอฟแวร์ ‘นิบบร้า’ ประเมินความเสี่ยงจากการรับสารก่อมะเร็งจากการสูดดมมลพิษในอากาศ ชี้รัฐบาลควรมีนโยบายลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA (Dr.Siwatt Pongpiachan, Associate Professor Director of NIDA Center for Research & Development of Disaster Prevention & Management) เปิดเผยว่า จากการทำวิจัยโดยนำข้อมูลตัวอย่างค่าฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ของกรมควบคุมมลพิษ จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้ง 7 สถานี ได้แก่ การเคหะชุมชนคลองจั่น โรงเรียนนนทรีวิทยา โรงเรียนสิงหราชพิทยาคม การไฟฟ้าย่อยธนบุรี สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย4 การเคหะชุมชนดินแดง และโรงเรียนบดินทรเดชา ตั้งแต่ปี 2549-2552 มาตรวจวิเคราะห์ความเสี่ยงจากสารก่อมะเร็งจากฝุ่นละอองในอากาศโดยเครื่อง shimadzu gcms qp2010 ultra พบว่า ค่าเฉลี่ยระดับความเข้มข้นของสารก่อมะเร็ง PAHs ในฝุ่น PM10 อยู่ที่ระดับ 554 พิโคกรัม หรือเกินค่ามาตรฐานถึง 2.2 เท่า เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานความปลอดภัยของ UK-EPAQS ที่ควรมีไม่เกิน 250 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

“จากการนำค่าเฉลี่ยระดับความเข้มข้นสารก่อมะเร็งเปรียบเทียบกับเมืองต่างๆ ในเอเชีย จะพบว่า กรุงเทพฯ จัดอยู่ในอันดับ 13 ของเมืองที่ประชาชนมีความเสี่ยงที่ได้รับสารก่อมะเร็งจากฝุ่นละอองในอากาศเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยเมือง Baoji และเมือง Beijing ของจีน เป็นเมืองที่มีความเสี่ยงได้รับสารก่อมะเร็งในอากาศสูงสุด โดยมีค่าเกินมาตรฐานความปลอดภัยของ UK-EPAQS ถึง 98 เท่า และ 33 เท่า” รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช กล่าว

ส่วนจุดที่มีค่าความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งในอากาศสูงสุดจากจุดตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษทั้ง 7 จุด พบว่า การเคหะชุมชนดินแดงมีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นอยู่ที่ 990 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือสูงกว่าค่ามาตรฐาน 3.96 เท่า รองลงมาได้แก่ สถานีตำรวจโชคชัย 4 อยู่ที่ 704 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร การไฟฟ้าธนบุรี อยู่ที่ 603 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่ามาตรฐาน 2.8 และ 2.4 ตามลำดับ ขณะที่สภาพอากาศบริเวณโรงเรียนนนทรีวิทยา มีค่าความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งเฉลี่ยทั้งปีต่ำสุดที่ 292 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

“นอกจากการวัดความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งแล้ว เรายังสามารถประเมินความเสี่ยงในระดับบุคคลได้ด้วย ว่าประชาชนในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงนั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดจากการสูดดมมลพิษในอากาศมากน้อยเพียงใด โดยใช้ข้อมูลด้านเพศ อายุ น้ำหนัก มาคำนวณร่วมกับข้อมูลค่าความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งในอากาศ ซึ่งต้องใช้ซอฟแวร์ ‘นิบบร้า’ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ NIDA และบริษัทพาราไซแอนติฟิค จำกัด เป็นผู้พัฒนาขึ้น เพื่อประมวลผลหาค่าความเสี่ยงจากการรับสารก่อมะเร็งโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) โดยถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำซอฟแวร์มาใช้ในการประมวลผลเพื่อหาความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดของแต่ละคน เนื่องจากแต่ละคนมีความเสี่ยงและระยะเวลาการเกิดโรคมะเร็งปอดที่แตกต่างกัน” รศ.ดร.ศิวัช กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA กล่าวด้วยว่า คณะผู้ทำวิจัยฯ ยังได้นำค่าเฉลี่ย PAHs ที่จุดตรวจวัดทั้ง 7 จุดของกรุงเทพฯ มาคำนวณในแบบจำลองการจำแนกสัดส่วนแหล่งกำเนิด พบว่า ร้อยละ 80 ของสารก่อมะเร็งในอากาศของพื้นที่กรุงเทพฯ มีสาเหตุจากไอเสียของยานพาหนะ แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้รณรงค์ให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวปรับเปลี่ยนมาใช้แก๊สโซฮอลล์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดมลพิษในอากาศ แต่ค่าเฉลี่ยของสารก่อมะเร็งในอากาศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ส่งผลให้ความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งในอากาศเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น แทนที่รัฐบาลจะกระตุ้นให้ประชาชนในเมืองใหญ่มีรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้สร้างมลพิษทางอากาศมากขึ้น และประชาชนมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารก่อมะเร็งเพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐควรหันกลับมารณรงค์ให้ประชาชนใช้บริการระบบขนส่งมวลชนเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว

เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ในนามศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA DPM

โดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณพิภพ ฆ้องวง(ท๊อป)

โทร. 02-612-2081 ต่อ 127

Email : [email protected]นท-