การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 46 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

02 May 2013

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 46 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+๓ ครั้งที่ ๑๖

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงข่าวการเตรียมการเดินทางของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 46 [46th Asian Development Bank (ADB) Annual Meeting] และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+๓ [ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors Meeting (AFMGM+3)] ครั้งที่ ๑๖ ระหว่างวันที่ ๒ – ๕ พฤษภาคม 2556 ณ กรุงเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยมีรายละเอียดสาระสำคัญ ดังนี้

๑. การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 46 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ว่าการจากประเทศสมาชิก ADB ทั้งหมด 67 ประเทศ หารือแลกเปลี่ยนแนวทางและประสบการณ์การดำเนินงานของ ADB ในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมาเพื่อให้การช่วยเหลือประเทศสมาชิกในภูมิภาคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยพิธีเปิดการประชุมฯ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2556 และมีการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานการประชุมฯ (สาธารณรัฐอินเดียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ) และประธาน ADB (Mr. Takehiko Nakao) ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมฯ จะมีการสัมมนาในหัวข้อเรื่องการจัดสรรความช่วยเหลือทางการเงินในระยะยาวเพื่อพัฒนา

โครงสร้างพื้นฐาน (Mobilizing Long-Term Financing for Infrastructure) ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2556 ซึ่งนายกิตติรัตน์ฯ ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นผู้เสวนาในการสัมมนาดังกล่าว นอกจากนี้ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะเข้าร่วมการประชุมประจำปีประเทศผู้บริจาคในกองทุนพัฒนาเอเชีย (Asian Development Fund Donors Consultation Meeting) และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของกลุ่มออกเสียงของไทยใน ADB

๒. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+๓ [ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors Meeting (AFMGM+3)] ครั้งที่ ๑๖ จะมีขึ้นในวันที่3 พฤษภาคม 2556 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบรูไนดารุสซาลามและสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานร่วมของการประชุมฯ ทั้งนี้ จะหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3

ความคืบหน้ามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี [Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM)] และมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย [Asia Bond Markets Initiative (ABMI)] การยกระดับสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 [ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO)] เป็นองค์การระหว่างประเทศ การจัดตั้งคณะทำงาน ASEAN+3 Research Group และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของ ASEAN+3 ในอนาคต

๓. นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ฯ มีกำหนดหารือทวิภาคีกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น องค์การระหว่างประเทศ อาทิ ADB, ธนาคารโลก, AFD (French Development Agency), Japan Bank for International Cooperation (JBIC) และสถาบันการเงินระหว่างประเทศชั้นนำต่างๆ อาทิ Daiwa Securities, Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Credit Suisse เป็นต้น

๔. ADB เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคี เช่นเดียวกับธนาคารโลก ก่อตั้งขึ้นภายใต้การดำเนินการของกลุ่มประเทศสมาชิก Economic and Social Commission for Asia and Pacific (ESCAP) 31 ประเทศ เมื่อปี 2509 และเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2509 (ประเทศไทยเป็น1 ใน 31 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง) โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ADB มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 67 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศที่อยู่ภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 48 ประเทศ และประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 19 ประเทศ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานของ ADB คือ มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก บรรเทาปัญหาความยากจน พัฒนาภาคสังคมและส่งเสริมธรรมาภิบาล สำหรับกรอบการดำเนินการในระยะยาว (พ.ศ. 2551 - 2563) ADB ได้มีการกำหนดนโยบายหลักเกี่ยวกับการสนับสนุนความเจริญเติบโตอย่างเบ็ดเสร็จ (Inclusive Growth) การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงสภาวะสิ่งแวดล้อม (Environmentally Sustainable Growth) และการรวมตัวในระดับภูมิภาค (Regional Integration) โดย ADB ได้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในรูปแบบต่างๆ อาทิ การให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ การค้ำประกันเงินกู้ และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ เป็นต้น

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

๐๒-๒๗๓-๙๐๒๐ ต่อ ๓๖๑๔ -นท-