ทีมนักวิจัยแม่โดม โชว์ศักยภาพ กวาด 8 รางวัล จากเวทีประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “2013 INST: The 9 th Taipei International Invention Show & Technomart” ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน

22 Oct 2013

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์

คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โชว์ 3 ผลงานนวัตกรรมฝีมือคนไทย กวาด 8 รางวัล จากเวทีประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “2013 INST: The 9 th Taipei International Invention Show & Technomart” ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานของนักประดิษฐ์จาก 21 ประเทศ ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยและผลงานนักประดิษฐ์คิดค้นชาวไทยให้ประจักษ์ต่อชาวโลก และยังเป็นโอกาสดีที่นักประดิษฐ์ไทยได้พบปะกับนักธุรกิจ นักลงทุนที่ต้องการซื้อสินค้าและนวัตกรรมอีกทางหนึ่ง โดยได้รับการสนับสนุนจาก The Taiwan External Trade Development Council (TAITRA)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทอง (2013 INST Gold Medal) จากผลงาน “ได้ทุกที่รีสอร์ท (anywhere RESORT)” กล่าวถึงผลงานว่า เป็นการบูรณาการองค์ความรู้แบบข้ามสาขา ทั้งองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัยประเภทรีสอร์ท ที่สามารถติดตั้งได้ในทุกสภาพแวดล้อม โดยใช้เวลาเพียง 1 วันในการติดตั้ง เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ออกแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน ส่งผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำสุด จึงกล่าวได้ว่า anywhere RESORT นอกจากจะเป็นต้นแบบของที่อยู่อาศัยประเภทรีสอร์ทแบบยั่งยืนและพอเพียง ยังเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของโลกให้กลับไปสู่สภาพดังเดิมได้รวดเร็วที่สุด เป็นผลงานที่ใช้ในกิจการ การวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ด้านที่อยู่อาศัยประเภท รีสอร์ท เพื่อผลิตต้นแบบ (prototype) นวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาการออกแบบ และลดขั้นตอนการก่อสร้าง เพื่อการสร้างสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน สามารถนำไปพัฒนาที่อยู่อาศัยต้นทุนต่ำ รวมทั้งเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวใหม่อย่างยั่งยืนในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม

รองศาสตราจารย์วรภัทร ลัคนทินวงศ์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญเงิน (2013 INST Silver Medal) จากผลงาน “อินดิเคเตอร์ (indicator) บ่งชี้การหมดอายุและคุณภาพการบริโภค“ เปิดเผยว่า เป็นการคิดค้นขึ้นเพื่อใช้ในการบ่งบอกถึงการหมดอายุของผลิตภัณฑ์ผัก ผลไม้สด ตัดแต่งพร้อมบริโภค ที่บรรจุในภาชนะแบบ Modified Atmosphere Packaging (MAP) ปกติผู้บริโภคไม่สามารถทราบได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่บรรจุในภาชนะที่หุ้มด้วยฟิล์มหมดคุณภาพการบริโภคแล้วหรือยัง หรือใกล้เวลาหมดคุณภาพการบริโภคแล้ว บางครั้งซื้อไปแล้วไม่สามารถบริโภคได้ การใช้งานเพียงนำ indicator ไปติดในภาชนะ หรือติดที่ฟิล์มที่ห่อหุ้ม เพื่อบ่งบอกการหมดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ Fresh Cut ในภาชนะได้ ดังนั้นเมื่อมี indicator ที่สามารถบอกให้ผู้บริโภคทราบได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นควรซื้อหรือไม่อย่างไร

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์วรภัทร ยังได้รับรางวัลเหรียญทองแดง (2013 INST Bronze Medal) จากผลงาน “ภาชนะย่อยสลายได้ เคลือบด้วยใบพืช” อีกด้วย

"สำหรับผลงานภาชนะย่อยสลายได้ เป็นภาชนะย่อยสลายได้ที่ขึ้นรูปจากส่วนผสมของ Polymer จากวัสดุธรรมชาติ (renewable source) Gum, resin, wax และ starch ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความทนทานต่อการใช้งานที่มีน้ำเป็นตัวทำละลาย โดยการเคลือบด้วยส่วนของใบพืชที่มี cuticle และ wax ที่หนา สามารถนำไปใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารทั้งประเภทแห้ง และประเภทน้ำ ซึ่งสามารถอุ่นด้วย microwave ได้ และที่สำคัญภาชนะสามารถย่อยสลายได้หมดภายใน 60 วันด้วยวิธีการฝังกลบ” รองศาสตาจารย์วรภัทรกล่าว

ผลงานสิ่งประดิษฐ์โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ประกอบด้วย

1. รางวัลเหรียญทอง (2013 INST Gold Medal) และรางวัล Special Prize จาก Korea Invention Promotion Association: KIPAผลงาน “ได้ทุกที่รีสอร์ท (anywhere RESORT)” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง

2. รางวัลเหรียญเงิน (2013 INST Silver Medal) รางวัลโล่ดีเด่น Outstanding Diplomaประกาศนียบัตร Excellent Invention และประกาศนียบัตร Excellent Idea

ผลงาน “อินดิเคเตอร์บ่งชี้การหมดอายุและคุณภาพการบริโภค“ โดย รองศาสตราจารย์วรภัทร ลัคนทินวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3. รางวัลเหรียญทองแดง (2013 INST Bronze Medal) รางวัล Special Prize จาก Taiwan Invention & Innovation Industry Association : TIIA

ผลงาน “ภาชนะย่อยสลายได้ เคลือบด้วยใบพืช” โดย รองศาสตราจารย์วรภัทร ลัคนทินวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net