แบงค์ออฟไชน่า จัดสัมมนา “การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศว่าด้วยสกุลเงินหยวน (RMB)”

25 Oct 2013

กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--วีม คอมมูนิเคชั่น

แบงค์ออฟไชน่า จัดสัมมนา “การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศว่าด้วยสกุลเงินหยวน (RMB)” พร้อมผนึก 2 แบงค์พันธมิตร ลงนามข้อตกลงการทำธุรกรรมระหว่างธนาคาร

แบงค์ออฟไชน่า สาขากรุงเทพมหานคร จัดงานสัมมนา “การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศว่าด้วยสกุลเงินหยวน (RMB)” หวังยกระดับธุรกิจด้านการเงินรวมทั้งสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย พร้อมจับมือ 2 แบงค์พันธมิตรชั้นนำของไทยลงนามความร่วมมือในการทำธุรกรรมระหว่างธนาคาร

นายหยาง ซื่อหวา ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานฝ่ายปฏิบัติการ แบงค์ออฟไชน่า สำนักงานใหญ่ประเทศจีน กล่าวว่าแบงค์ออฟไชน่า สาขากรุงเทพมหานคร เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากการลงทุนร่วมโดยกลุ่มทุนประเทศจีน มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจในประเทศไทยกว่า 19 ปี ได้มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยในทุกๆ ด้าน จึงได้จัดกิจกรรมงานสัมมนาในหัวข้อเรื่อง การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศว่าด้วยสกุลเงินหยวน (RMB) ขึ้นมา และในครั้งนี้ยังได้มีพิธีลงนามความร่วมมือร่วมกับธนาคารพาณิชย์ของไทยในอีกด้วย ซึ่งทางแบงค์ออฟไชน่าได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมกันลงนามขยายความร่วมมือด้านการทำธุรกรรมระหว่างธนาคาร ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับการดำเนินธุรกิจการเงินของแบงค์ออฟไชน่า ในประเทศไทยอีกด้วย

สำหรับการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อการสัมมนาทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และได้เชิญวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของแบงค์ออฟไชน่า โดยนางสาวโหว เฟย และนายพาน จื้อเจี้ยน มาให้ข้อมูลด้านพัฒนาการของตลาดสกุลเงินหยวน (RMB) ในตลาดโลก รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และศาสตราจารย์ทัง จื้อหมิ่น ผู้เชี่ยวชาญภาควิชาเศรษฐศาสตร์จากสถาบันปัญญาภิวัฒน์ เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยภาคเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอีกด้วย

ปัจจุบันเงินหยวน (RMB) ได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ได้รับการเลือกใช้มากที่สุดในระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นสกุลเงินที่มีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2553 ได้รับการเลื่อนจากอันดับที่ 17 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 9 ซึ่งปัจจุบันนี้ การทำธุรกรรมเงินหยวนเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 2.5 เท่า จากเดิมที่มีประมาณหมื่นล้านหยวนต่อวัน เป็นหนึ่งล้านล้านหยวน เนื่องจากระบบอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศจีนได้เริ่มปรับตัวตามกลไกตลาดเสรี หน่วยงานภาครัฐของจีนจึงขอความร่วมมือในการปฏิรูประบบการเงินการคลัง โดยกำหนดให้โครงการประเภทเงินทุนสามารถทำการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้อย่างเสรี รวมถึงมาตรการต่างๆ จะทำให้เงินหยวน (RMB) มีศักยภาพสูงในการขยายตัวในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม แบงค์ออฟไชน่าถือเป็นธนาคารพาณิชย์ในระบบ G-SIFI เพียงรายเดียวในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยได้เปิดดำเนินการทางเครือข่ายธุรกรรมที่ครอบคลุมทั่วโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้แบงค์ออฟไชน่ามีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจที่สามารถให้บริการด้านการแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวน (RMB) ระหว่างประเทศ และมีอัตราการซื้อขายโดยเฉลี่ยมากที่สุดในโลก โดยมียอดสะสมปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านหยวน นอกจากนี้ทางแบงค์ออฟไชน่ายังได้สร้างระบบเครือข่ายการชำระเงินด้วยสกุลเงินหยวน (RMB) ที่ครอบคลุมทั่วโลก รวมถึงได้สร้างระบบสายธุรกิจผลิตภัณฑ์เงินหยวนที่ครอบคลุมการฝากเงิน สินเชื่อ การลงทุนและการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งสามารถให้บริการกับลูกค้าของธนาคารได้ทั่วทุกมุมโลก

“ธนาคารฯ เล็งเห็นว่า นโยบายการมุ่งผลักดันสกุลเงินหยวนสู่การเป็นเงินตราในระดับสากลนั้น เป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาบริการสู่ตลาดทุนของไทย จึงได้ทำการเปิดบริการธุรกรรมฝาก ถอน โอนเงินด้วยสกุลเงินบาท และหยวน รวมถึงให้บริการทางด้านบัตรเครดิตและเดบิต ด้วยสกุลเงินบาทและเงินหยวนในบัตรใบเดียว เห็นได้จากที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน มาเยือนประเทศไทย ซึ่งได้เสนอให้สองประเทศมุ่งพัฒนาความร่วมมือที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง และได้นำเสนอแผนการจัดตั้งธนาคารชำระเงินด้วยสกุลเงินหยวนในประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินด้วยเงินตราท้องถิ่นของทั้งสองประเทศ ซึ่งแบงค์ออฟไชน่าสาขากรุงเทพมหานคร ได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ของไทย ในการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับนโยบายนี้ เพื่อให้บริการลูกค้าทั้งชาวไทยและจีนในประเทศไทย ในด้านบริการการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินหยวนสำหรับลูกค้า ผู้ประกอบการทั่วไปและลูกค้าบุคคลอีกด้วย” นายหยาง กล่าว สำหรับงานสัมมนาฯ ครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านสกุลเงินหยวนของแบงค์ออฟไชน่า สำนักงานใหญ่ประเทศจีน มาร่วมให้ข้อมูล นำโดย นายจาง เหลย ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ นางสาวโหว เฟย ผู้บริหารฝ่ายธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ นางสาวหลิว เหวินรุ่ย นายเฉินหลิน และนายพาน จื้อเจียน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของแบงค์ออฟไชน่า สำนักงานใหญ่ประเทศจีน พร้อมทั้งนายซือ จิน ผู้จัดการใหญ่แบงค์ออฟไชน่า สาขากรุงเทพมหานคร มาร่วมในการให้ข้อมูลในครั้งนี้อีกด้วย

-นท-