สสส. หนุน กทม. เมืองหนังสือโลก 2013 รณรงค์การอ่าน Bangkok-Read for Health อ่านยกกำลังสุข ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและแบ่งปัน

04 Dec 2013
สสส. หนุน กทม. เมืองหนังสือโลก 2013 รณรงค์การอ่าน Bangkok-Read for Health อ่านยกกำลังสุข ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและแบ่งปัน พร้อมมอบตู้หนังสือเพื่อน้องในชุมชนและเร่งเพิ่มโอกาส 100 ชุมชน เข้าถึงหนังสือดี พุ่งเป้าสู่ กทม. เมือง 3 ดี อย่างยั่งยืน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านจัดกิจกรรม “ศิลป์สร้างสุข : สร้างสรรค์ตู้หนังสือเพื่อน้องในชุมชน” ภายใต้โครงการ Bangkok-Read for Health วาระการอ่านยกกำลังสุข ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์เดือนแห่งการสร้างเสริมสุขภาวะ พร้อมมอบตู้หนังสือให้แก่ ชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ ชุมชนบ้านมั่นคง และชุมชนบ้านเอื้ออาทร เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและการแบ่งปัน

โดยทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในโอกาสกรุงเทพมหานครได้รับประกาศเป็น “เมืองหนังสือโลก 2556” และ ในโอกาส “ครบรอบก่อตั้ง สสส.” ในเดือนพฤศจิกายนนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้จัดกิจกรรมกระตุ้นการอ่านตลอดทั้งเดือน ผ่านกิจกรรมสนับสนุนการอ่านเพื่อพัฒนาสู่ต้นแบบในการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสุขภาวะ 4 มิติ ทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา สำหรับกิจกรรม “ศิลป์สร้างสุข : สร้างสรรค์ตู้หนังสือเพื่อน้องในชุมชน” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เชื่อมโยงการอ่านและการแบ่งปัน สร้างวัฒนธรรมจิตอาสาให้เกิดขึ้นในบุคลากร สสส. และชุมชนโดยรอบ ผ่านการแบ่งปันหนังสือภาพ หนังสือนิทาน รวมถึงหนังสือเพื่อสุขภาพ และร่วมกันสร้างสรรค์ตู้วางหนังสือ ติดสติ๊กเกอร์ ระบายสี ตกแต่ง เพื่อส่งมอบให้ชุมชนโดยรอบและชุมชนอื่นๆ ใน กทม. รวม 100 พื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึงหนังสือสร้างสรรค์สำหรับเยาวชน

ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า โครงการ Bangkok-Read for Health อ่านยกกำลังสุข เป็นการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านที่เป็นต้นแบบการอ่านเพื่อสุขภาวะ และมีการอบรมเชิงปฏิบัติการการอ่านเพื่อสุขภาวะในมิติต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคีเครือข่ายการอ่านภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดแกนนำสร้างเสริมสุขภาวะด้วยการอ่านในระดับชุมชน และสังคมในวงกว้าง นอกจากนี้ยังเป็นการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครให้เป็น เมือง 3ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดีอย่างยั่งยืนนางสาวสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า การสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร ปี 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับการอ่านหนังสือของประชากรนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงาน ซึ่งรวมการอ่านหนังสือทุกประเภท และการอ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อาทิ อินเทอร์เน็ต ซีดี ฯลฯ ยกเว้น SMS หรือ E-mail พบว่า เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่อ่านเองหรือผู้ใหญ่อ่านให้ฟังมีร้อยละ 53.5 เพิ่มจากปี 2551 ที่มีอัตราการอ่านหนังสือเพียงร้อยละ 36 สำหรับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปมีอัตราการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จากร้อยละ 66.3 เป็นร้อยละ 68.6 ทั้งนี้ กลุ่มวัยเด็กมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่าวัยอื่น รองลงมา คือ กลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มวัยสูงอายุ

“ความถี่ของการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียนของเด็กเล็ก เป็นเด็กที่อ่านหนังสือสัปดาห์ละ 2–3 วัน มากที่สุด ร้อยละ 42.0 เมื่อเฉลี่ยเวลาที่ใช้อ่านหนังสือนอกเวลาเรียนของเด็กเล็ก เฉลี่ย 26 นาทีต่อวัน เด็กเล็กที่อาศัยในเขตเทศบาลใช้เวลาอ่านหนังสือฯ มากกว่านอกเขตเทศบาล 28 นาที และ 25 นาที ตามลำดับ เด็กเล็กที่อาศัยในกรุงเทพฯ ใช้เวลาอ่านหนังสือฯ เฉลี่ยสูงสุด คือ 35 นาทีต่อวัน” นางสาวสุดใจ กล่าว

ขณะที่ นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ในฐานะเจ้าของแนวคิด กล่าวว่า ขอเชิญชวนคนไทยที่มีใจรักการอ่าน ชอบในงานศิลปะ และอยากทำงานจิตอาสามาลงมือ ลงแรง แต่งเพิ่ม เติมสี ให้กับวัสดุเหลือใช้ เช่น ตู้เย็นเก่า ตู้กับข้าวเก่า และชั้นวางของที่ไม่ใช้แล้ว นำมาตกแต่งใหม่เป็นตู้หนังสือ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจส่งเสริมการอ่าน เป็นการออกแบบเพื่อสร้างสุขให้กับผู้คน เมื่อนำไปส่งมอบให้ผู้รับ นอกจากจะเกิดความประทับใจแล้ว จะสร้างนิสัยอยากอ่านให้เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ จะมีการคัดเลือกหนังสือที่จะนำมาใส่ในตู้หนังสือด้วย เพื่อร่วมสนับสนุนให้กรุงเทพเป็นเมืองหนังสือโลกต่อไป

ด้านนายพงศกร ดอนคำ ประธานชุมชนบ้านมั่นคง กล่าวว่า การนำตู้เย็น และรถเข็นมาทำเป็นตู้หนังสือจะเกิดประโยชน์มากเพราะเป็นการนำของเหลือใช้มารีไซเคิลให้เป็นประโยชน์สำหรับชุมชน เพื่อที่จะเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ในชุมชนได้อย่างดี ถือเป็นประโยชน์สำหรับลูกหลานในการที่จะใช้หนังสือในการความรู้ต่างๆ และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นในอนาคต ตู้หนังสือนี้จะนำไปวางในพื้นที่ที่มีชาวบ้านได้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งเป็นศูนย์ที่เปิดไว้สำหรับให้ชาวบ้านได้หาความรู้ด้วย ในส่วนของหนังสือที่ยังขาดจะเป็นหนังสือด้านพัฒนาการของเด็กและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

นางจิตติมา ช่วงจั่น รองประธานชุมชนบ้านเอื้ออาทร กล่าวว่า การมอบหนังสือเพื่อน้องในชุมชนครั้งนี้มีประโยชน์มาก คือ ได้ให้ความสุขกับการอ่านหนังสือ ให้ความรู้ ให้ความสามัคคีร่วมกัน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีตู้หนังสืออยู่ในชุมชน การนำตู้เย็นหรือรถเข็นมาทำเป็นตู้หนังสือนั้นเป็นสิ่งที่สวยงาม เด็กๆจะได้รับประโยชน์ หากมีของใช้ก็สามารถนำมาประยุกต์เป็นตู้หนังสือได้ อย่างไรก็ตามจะจัดมุมหนังสือที่ห้องนิติบุคคลซึ่งเป็นส่วนกลางของโครงการเอื้ออาทรสวนพลูที่ปัจจุบันเป็นตู้ยาของชุมชนอยู่ เนื่องจากยังไม่มีมุมหนังสือของชุมชนและผู้ที่จะมาใช้บริการตู้หนังสือน่าจะเป็นเยาวชนและผู้สูงอายุที่เข้ามาใช้บริการในส่วนนี้ และจะเชิญชวนให้เด็กในชุมชนเข้าไปนั่งอ่านหนังสือเพิ่มมมากขึ้นด้วย

โดยนางคณาทิพย์ พึงพิเชฐ ครูประจำศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ ตัวแทนชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า การประยุกต์จากตู้เย็นธรรมดาเป็นตู้หนังสือจากวัสดุเหลือใช้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เป็นการเชิญชวนเด็กๆ ให้อยากหยิบหนังสือมาอ่าน สร้างเสริมให้เกิดการรักการอ่านให้กับเด็กในชุมชนด้วย คิดว่าตู้หนังสือนี้จะนำไปจัดวางไว้ในศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนหรืออาจจะเป็นที่ใดที่หนึ่งในชุมชน ขอนำไปพิจารณาคัดเลือกสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนในชุมชนในการเข้าถึง อยากได้หนังสือปกแข็งและหนังสือที่มีรูปภาพ ซึ่งเป็นหนังสือที่เหมาะกับเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป มีเนื้อหาที่เข้าใจง่ายสำหรับเด็กที่กำลังฝึกพูดฝึกอ่าน เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่เด็กในศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจอยากมอบทั้งหนังสือและตู้หนังสือเหลือใช้ สามารถแจ้งความจำนงมาได้ที่ โทรศัพท์ 02-612-6996-7 ต่อ 101 หรือ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซอยงามดูพลี ที่เป็นจุดหลักในการตั้งตู้รับบริจาคหนังสือ หรือติดตามข้อมูลได้www.artculture4health.com และ www.facebook.com/art.culture4h โดยหนังสือที่ต้องการมากที่สุดเป็นหนังสือนิทานกับหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน