กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล เปิดตัวโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” พัฒนาการสอนการทดลองเคมี เพื่อเพิ่มศักยภาพเด็กไทย

03 Dec 2013
กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ และจังหวัดระยอง เปิดตัวโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” เน้นการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการทดลองเคมี เพื่อเพิ่มประสบการณ์และศักยภาพนักเรียน โดยเริ่มที่จังหวัดระยองเป็นแห่งแรก

บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 18 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 ระยอง ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดเทคนิคการสอนปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนแก่ครูวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปพัฒนาการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการทดลองเคมีในโรงเรียน ให้นักเรียนปฏิบัติได้จริงอย่างปลอดภัยและเกิดทักษะทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง อันจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในการศึกษาวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

นายจิรศักดิ์ สิงห์มณีชัย กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย กล่าวว่า ดาว เคมิคอล เชื่อว่า “การศึกษา” เป็นรากฐานที่ทำให้เกิดนวัตกรรม จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เรายึดมั่นในพันธสัญญาที่จะพัฒนาการศึกษามาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญยิ่งสำหรับการต่อยอดการพัฒนาประเทศของเรา

“ความเข้าใจในวิชาเคมีจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้อย่างมากมาย ซึ่งองค์ความรู้ในด้านเคมีนี้ก็ถือเป็นความสามารถในการแข่งขันของดาว เคมิคอล ในระดับโลกเช่นเดียวกัน เราสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเคมีด้วยหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งแก้ปัญหาที่ท้าทายยิ่งของโลก อาทิ ปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาด การผลิตและการอนุรักษ์พลังงาน และการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เราจึงเห็นความสำคัญของวิชาเคมี และการนำเอาวิชาเคมีเข้าสู่ห้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม” คุณจิรศักด์กล่าวเสริม

โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” เป็นโครงการที่ให้การอบรมการสอนการทดลองเคมีและเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในโรงเรียน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์จากการทำการทดลองได้อย่างมีสีสันมากยิ่งขึ้น และช่วยส่งเสริมให้เกิดการนำการทดลองมาสอนในห้องเรียนมากขึ้น ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียนเกิดทักษะการสังเกต การจดบันทึก และการค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ อันเป็นลักษณะสำคัญของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยสามารถนำแนวทางการสอนนี้มาต่อยอดและประยุกต์เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” ในปีแรกนี้จะมีสถาบันการศึกษาในจังหวัดระยองเข้าร่วมทั้งสิ้น 25 โรงเรียน

รศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” นี้ ถือเป็นการส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาเคมี และเป็นประโยชน์ต่อผู้สอนวิทยาศาสตร์อย่างมากที่จะได้รับเทคนิคการสอนแนวใหม่ และนําไปถ่ายทอดสู่ผู้เรียนเพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีสีสัน สนุก และมีประสิทธิภาพ โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” จะใช้วิธีปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้เคมีที่มีประสิทธิภาพสูงในขณะที่มีความปลอดภัยมาก อีกทั้งช่วยให้การทดลองทางเคมีเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์พลาสติกที่ใช้กันแพร่หลายทางจุลชีววิทยา ชีวโมเลกุล เทคนิคการแพทย์ และนาโนเทคโนโลยี ซึ่งมีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับอุปกรณ์เครื่องแก้วที่ใช้ในการทดลองเคมีทั่วไป นอกจากนี้แล้ว ยังสามารถนำวัสดุขนาดเล็กอื่นๆ ที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน มาดัดแปลงใช้ในปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนได้ด้วย”

นายวราวุธ ปิ่นเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “ผมต้องขอขอบคุณกลุ่มบริษัทดาว เคมิคอล ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษา และได้นำเอากระบวนการทดลองหรือการคิดวิเคราะห์ในเชิงวิทยาศาสตร์มาเสริมให้กับนักเรียนไทย ซึ่งในจุดนี้ผมมองว่าเด็กไทยยังขาดการเรียนรู้จากการทดลองลงมือทำจริง และก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวดที่โครงการนี้มานำร่องที่จังหวัดระยอง เพราะนั่นจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับเด็กนักเรียนของเราให้ได้รับการเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ ในขณะเดียวกันครูของเราก็จะมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น และอาจต่อยอดไปแบ่งปันประสบการณ์นี้ให้กับครูในจังหวัดอื่นๆ รวมไปถึงในระดับภาคหรือประเทศ หากแนวทางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยตอบโจทย์การแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาไทยให้ดียิ่งขึ้นได้”

“ห้องเรียนเคมีดาว” แบ่งการดำเนินกิจกรรมออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การแนะนำการสอนการทดลองเคมีแบบปลอดภัย ส่วนที่ 2 การอบรมเชิงปฏิบัติการ: ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน ส่วนที่ 3 การติดตามและประเมินการสอนการทดลองเคมีในโรงเรียนแบบปลอดภัย และส่วนที่ 4 การนำเสนอและรายงานผลการเรียนการสอน ซึ่งคาดว่าทั้ง 4 ส่วนจะใช้เวลาตั้งแต่ปลายปี 2556-2557