“1 ล้านกล้า สร้างป่าต้นน้ำ” โครงการที่เป็นมากกว่าการ “ปลูกป่าหน้าสื่อ” ของ TTW

02 Dec 2013
หากบริษัทฯ จะริเริ่มโครงการใดสักโครงการเพื่อตอบแทนสิ่งดีๆ กลับคืนสู่สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เราจะทำอะไรดี? เป็นคำถามปลายเปิดที่เกิดขึ้นในใจของ “สมโพธิ ศรีภูมิ” นายใหญ่แห่งบริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ก่อนผุดไอเดียในการสร้างป่าต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำท่าจีนให้เกิดความสมดุลตั้งแต่ต้นน้ำจรดปลายน้ำ

บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำประปา ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้ อันเป็นศูนย์กลางของสิ่งมีชีวิต ได้ริเริ่ม “โครงการ 1 ล้านกล้า สร้างป่าต้นน้ำ” ใน การปลูกป่าต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลองในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ หมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมปีละ 1,000 ไร่ หรือ 2 แสนต้น ในระยะเวลา 5 ปี รวมพื้นที่ปลูกป่าทั้งสิ้น 5,000 ไร่ หรือ 1 ล้านต้น และบำรุงรักษาป่าที่ปลูกอีก 2 ปีต่อเนื่อง รวมระยะเวลาของโครงการ 7 ปี (พ.ศ. 2554 – 2560) โดยต้นไม้ที่เติบโต และสมบูรณ์จะถูกส่งมอบให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นสมบัติของแผ่นดินต่อไป

ส่งมอบผืนป่า 2 แสนต้นแรกให้เป็นสมบัติของชาติ

22 พ.ย. 2556 คุณสมโพธิ ศรีภูมิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.น้ำประปาไทย พาคณะผู้ถือหุ้นกว่า 50 ชีวิต ร่วมเป็นสักขีพยานในกิจกรรมการส่งมอบผืนป่า 2 แสนกล้า (แปลงปลูกปี 2554) ของโครงการ “1 ล้านกล้า สร้างป่าต้นน้ำ” ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ซึ่งนับเป็นผืนป่ารุ่นแรกของโครงการฯ ที่ได้รับการบำรุงรักษาจนแข็งแรง และเติบโตเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ต่อไป โดยคุณเชิดชัย จริยะปัญญา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เดินทางมารับมอบผืนป่าด้วยตนเอง“ในฐานะผู้ผลิตน้ำประปาภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เราตระหนักดีว่าหากขาด “น้ำ” ไม่เพียงแต่ธุรกิจส่วนหนึ่งของบริษัทฯ ที่จะหยุดชะงักลง แต่หมายถึงชีวิตและธุรกิจอีกมากมายที่จะได้รับผลกระทบ โครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมปลูกป่าตามกระแสนิยม หรือ “ปลูกป่าหน้าสื่อ” แล้วปล่อยทิ้งโดยไม่ได้ดูแล แต่การปลูกป่าครั้งนี้ต้องได้ป่าอย่างแท้จริง และยังเป็นต้นน้ำที่นำมาซึ่ง “น้ำ” เพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค” นายใหญ่แห่งน้ำประปาไทยกล่าว

ตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ บริษัทฯ ใช้ทรัพยากร และแรงงานจากชุมชนในท้องถิ่นร่วมกับพนักงานของบริษัทฯ ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจชุมชนอย่างครบวงจร รวมถึงทำให้ชุมชนในท้องถิ่นเกิดความรู้สึกหวงแหนป่า และเป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าและธรรมชาติ ส่งผลให้การปลูกป่าของเรามิได้เป็นเพียงการสร้างป่าที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างป่าต้นน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงสรรพสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำจรดปลายน้ำได้อย่างยั่งยืน

ปรับปรุงอาคารเอนกประสงค์ และซ่อมแซมโต๊ะ-เก้าอี้ของโรงเรียนบ้านเพียงหลวง 3

นอกเหนือจากตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญคือทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ เด็กๆ นักเรียนในพื้นที่ของโครงการฯ ผู้ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ดูแลทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เหล่านี้ในอนาคต เป็นที่มาของกิจกรรมสำคัญอีกอย่างของคณะจิตอาสาของบริษัทฯ ผู้ถือหุ้น และชาวบ้านในพื้นที่ คือการร่วมกันทาสีอาคารเอนกประสงค์ ซ่อมแซมโต๊ะ เก้าอี้ และปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบของโรงเรียนบ้านเพียงหลวง 3 (บ้านเหมืองแร่อีต่อง) ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ให้กลับมาอยู่ในสภาพดี พร้อมสำหรับให้เด็กๆ นักเรียนได้ใช้ประโยชน์ในการเรียน และกิจกรรมต่างๆ ซึ่งนอกจากทัศนียภาพที่เปลี่ยนไปแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนได้รับคือ ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มของนักเรียน และคณะครูอาจารย์ ที่ถูกส่งต่อถึงกันในรูปแบบของความสุขให้เราได้ตักตวงกลับเมืองมาใช้ในยามอ่อนแรง.