ผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมจัดงาน “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และสถานีประชาชนสัญจร จังหวัดลำปาง”

15 Aug 2013

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

ผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดงาน “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และสถานีประชาชนสัญจร จังหวัดลำปาง” ในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2556 ณ หอประชุมโรงเรียนแม่เมาะวิทยา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับจังหวัดลำปางลงพื้นที่จัดกิจกรรมใหญ่ ทั้งพิธีถวายราชสักการะหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมกล่าวปฏิญาณตนเทิดทูนสถาบัน ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงสดุดีมหาราชา ตลอดจนพบปะพี่น้องประชาชนและรับเรื่องร้องเรียนปัญหาทุกข์ร้อนต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเร่งช่วยกันหาทางแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนเสียหาย โดยการดำเนินงานครั้งนี้ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากนายสุวรรณ กล่าวสุนทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง รวมทั้งการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

นายรักษเกชา กล่าวต่อว่า นอกจากการลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในครั้งนี้ ยังได้นำรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ (Mobile Unit) ออกให้บริการปรึกษาปัญหาทางด้านกฎหมายและรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนตลอดทั้งวัน อีกทั้งจัดนิทรรศการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับบทบาท อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินคือ 1.พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น และการปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม รวมทั้งตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล 2.ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรม และหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย และหากเป็นการกระทำผิดร้ายแรงให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อพิจารณาถอดถอนได้ ในกรณีที่การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมมีลักษณะร้ายแรงหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการดำเนินการของผู้รับผิดชอบจะไม่เป็นไปด้วยความเป็นธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไต่สวนและเปิดเผยผลการไต่สวนต่อสาธารณะก็ได้ 3.ติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น 4.รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาทุกปี

“ถ้าประชาชนไม่สะดวกมายื่นเรื่องร้องเรียนภายในงาน สามารถร้องเรียนที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยตนเองได้ ซึ่งการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นมีช่องทางอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งทางโทรศัพท์สายด่วน 1676 โทรฟรีทั่วประเทศ หรือร้องเรียนทางไปรษณีย์ ซึ่งจะต้องลงชื่อผู้ร้องเรียน ที่อยู่ โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ ระบุชื่อผู้ถูกร้องเรียนและเหตุที่ร้องเรียน หากต้องการปกปิดชื่อผู้ร้องเรียนก็สามารถแจ้งปกปิดชื่อได้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะรักษาเป็นความลับอย่างเคร่งครัด โดยส่งไปรษณีย์ไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 เลขที่ 120 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 021419100 โทรสาร 021438341 หรือร้องเรียนทางอินเทอร์เน็ตที่ www.ombudsman.go.th รวมทั้งสามารถร้องเรียนผ่านเครือข่ายของผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการจังหวัดทั่วประเทศ และสภาทนายความและสำนักงานสาขาของสภาทนายความทั่วประเทศ หรือร้องเรียนผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้อีกด้วย”

นายรักษเกชา กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว กิจกรรมในครั้งนี้ยังมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลำปาง และสำนักงานอัยการจังหวัดลำปาง ออกให้บริการรับปรึกษาปัญหาข้อกฎหมายและให้ความรู้เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กร อีกทั้งหน่วยงานราชการต่างๆ ในจังหวัดลำปาง ที่พร้อมใจกันมาออกหน่วยให้บริการพี่น้องประชาชนมากกว่า 50 หน่วย เช่น หน่วยบริการทำบัตรประชาชน บริการด้านการเงิน บริการตัดผมฟรี และบริการฝึกอาชีพต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงเท่านี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสถ่ายทอดสดบรรยากาศจากพื้นที่แม่เมาะ และเปิดเวทีเสวนาสดเพื่อนำเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กรณีกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าผ่านทางรายการ “สถานีประชาชน”สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เวลา 14.00 - 15.30 น. จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะและพื้นที่ใกล้เคียง เข้าร่วมกิจกรรมตลอดช่วงเช้าและช่วงบ่าย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สาธารณะ ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีแต่ความร่มเย็นทั่วกันทุกพื้นที่ของประเทศ

-กผ-