สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ราชภัฏโคราช จัดแถลงข่าวแรดดึกดำบรรพ์ไทยพันธุ์ใหม่ของโลก อาเซราธีเรียม พอพันธ์ไน (Aceratherium porpani)

30 Sep 2013

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2556 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย (FCCT) กรุงเทพมหานคร นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ให้เกียรติเป็นประธานงานแถลงข่าว การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ แรดไทยพันธุ์ใหม่ของโลก อาเซราธีเรียม พอพันธ์ไน (Aceratherium porpani) ซึ่งเป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่าง สถาบันบรรพชีวินวิทยา สัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล (Institute of Vertebrate Paleontology and Paleoanthropology) กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย ศาสตราจารย์ ดร. เติ้ง เถา (Prof. Dr. Deng Tao) กับสถาบันวิจัย ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบัน และ ดร.รัตนาภรณ์ หันตา นักวิจัย แห่งมหาวิทยาลัย ราชภัฏนครราชสีมา โดยมี รองศาสตราจารย์สะอาดศรี คงนิล รองอธิการบดี ฝ่ายวางแผนและพัฒนา ร่วมแถลงข่าวการค้นพบแรดดึกดำบรรพ์ พันธุ์ใหม่ แรดพอพันธ์ไนนี้ถูกค้นพบจากบ่อทรายริมน้ำมูล บริเวณ บ้านท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา แหล่งเดียวกับ เอป โคราชพิเธคัส พิริยะอิ และบรรพบุรุษหมูป่าโบราณ เมอริโคโปเตมัส ท่าช้างเอนซิส ที่มีการค้นพบไปก่อนหน้านี้

ชื่อชนิดแรดพันธุ์ใหม่ได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พอพันธ์ วัชจิตพันธ์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และอดีตประธานสภาคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้มอบ ซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวให้สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ไว้เพื่อ ศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ผลการวิจัยพบว่า แรดพอพันธ์ไน เป็นแรดดึกดำบรรพ์ที่ไม่มีนอ ดังนั้นจึงจัดอยู่ในวงศ์ย่อย อาเซราธีริเน สกุลอาเซราธีเรียม เนื่องจากมีลักษณะกะโหลกด้านบนแบนเรียบ ขอบท้ายกะโหลกเป็นแนวตรงที่เด่น และมีสันกลางกะโหลกแผ่ขยาย กว้างกว่าแรดอื่นอีก 2 ชนิด ในสกุลเดียวกัน คือ อาเซราธีเรียม อินซิสิวัม (A. incisivum) และอาเซราธีเรียม เดเปเรทิ (A. depereti) นอกจากนี้ ยังมีลักษณะฟันกรามบางประการที่แตกต่างจาก 2 ชนิดดังกล่าว ผลงานวิจัยนี้ได้รับการยอมรับให้เป็นแรดดึกดำบรรพ์พันธุ์ใหม่และ ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Vertebrate Paleontology ซึ่งเป็นวารสาร ของ Society of Vertebrate Paleontology อันเป็นสมาคมระดับโลกด้าน บรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลัง และมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา แรดพอพันธ์ไน บ่งบอกว่า บริเวณตำบลท่าช้าง ในช่วงปลายสมัยไมโอซีน หรือ เมื่อ 7.5 - 6.0 ล้านปีก่อน มีสภาพพื้นที่เป็น ทุ่งหญ้าติดต่อกับป่าทึบริมแม่น้ำมูลโบราณ

ติดต่อ:

งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โทร.044-009009

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net