“รองนายกฯ มาเลเซีย” เยือนไทย หวังสร้างความร่วมมือ 2 ประเทศ “พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล”

09 Sep 2013

กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย

รัฐบาลมาเลเซีย พร้อมคณะเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าเยี่ยมชมศักยภาพกิจการฮาลาลไทยตามแนวทางศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์ พร้อมร่วมประชุมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย อันเป็นต้นแบบความร่วมมือที่จะทำให้ฮาลาลทั้ง 2 ประเทศได้มีโอกาสที่จะพัฒนาในเรื่องของรูปแบบ และการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้นในตลาดโลก

ตันศรี มูยิดดีนบินมูฮัมมัด ยัสซิน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเลเซีย พร้อม ดาโต๊ะ ปาดูกา ฮัจญีมูคีร ตุน มะฮะเดร์ มุขมนตรีรัฐเคดาห์, มัซลัน มาน มุขมนตรีรัฐเปอร์ลิส และ ดาโต๊ะ นาซีเราะฮ์ บินตี ฮูเซน เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลมาเลเซียรวม 52 คนเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าเยี่ยมชมศักยภาพกิจการฮาลาลไทยตามแนวทางศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมร่วมประชุมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย โดยมี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมนางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ, พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ร่วมให้การต้อนรับ

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล กล่าวว่า ผลจากการการประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จและผลงานของศูนย์ฯ โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินการด้านกิจการฮาลาลในประเทศไทย การวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ก้าวหน้า อีกทั้งยังชื่นชมถึงการทำงานของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในการตรวจประเมินฮาลาล โดยเสริมว่าการทำงานของ สกอท.ร่วมกับทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล นั้นเป็นแบบอย่างที่ดีที่ทางมาเลเซียควรศึกษาและปฏิบัติตาม แม้ว่ามาเลเซียจะมีความเข้มแข็งทางด้านองค์กรศาสนาแต่ก็ยังขาดความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลบางส่วนซึ่งจำต้องศึกษาจากศูนย์ฯ ในหลายด้าน

เพราะเนื่องจากปัญหาที่มาเลเซียประสบในอดีตคือการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการรับรองฮาลาลและตราฮาลาล ที่มีผู้ประกอบการบางส่วนไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งต่างกับประเทศไทยแม้มี พรบ.กำหนดชัดเจนแต่ก็มิใช่รูปแบบของการบีบบังคับให้มีการรับรองฮาลาล แต่ให้อยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ เพื่อความสะดวกของผู้ประกอบการและผู้บริโภค ในการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อฮาลาลในสังคมที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิม แต่ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายให้มีการรับรองฮาลาล แต่ประเทศไทยก็มีมาตรการในการดำเนินการกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกติกาที่เด็ดขาด เช่นการตรวจสอบ การตรวจประเมิน และการดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด

โดยการประชุมครั้งนี้มียังได้มีการบรรยายพิเศษ โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ในเรื่องของความสำเร็จและความก้าวหน้าของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยการสนับสนุนอย่างดีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย และจากหน่วยงานราชการอื่นๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น และท้ายสุดจากการประชุมฯ ประเทศไทยได้มีการสาธิตโปรแกรม “Halal Thailand” สำหรับการตรวจสอบสภาพฮาลาล และข้อมูลของผลิตภัณฑ์ด้วยโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนให้ที่ประชุมได้รับชม และทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบที่จะให้มีความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องการกำหนดมาตรฐานฮาลาลไม่เฉพาะเรื่องอาหาร แต่ยังเห็นพ้องต้องกันว่าทั้งสองประเทศต้องเป็นผู้นำและผู้บุกเบิกที่จะทำให้ความร่วมมือด้านฮาลาลเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ร่วมกันในอนาคต

-นท-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net