พัฒนาคุณภาพข้าวหอมมะลิด้วยระบบ GAP

04 Mar 2014
จังหวัดมหาสารคามเร่งพัฒนาเร่งพัฒนาคุณภาพและผลผลิตข้าวหอมมะลิจังหวัดด้วยระบบ GAP ทุ่มงบประมาณตามยุทธศาสตร์จังหวัด กว่า ๗ ล้านบาท มุ่งสู่การตรวจสอบและรับรอง ระบบการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมหรือระบบ GAP และเกษตรอินทรีย์ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดมหาสารคาม มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ๒.๒ ล้านไร่ ผลผลิตรวม กว่า ๑ ล้านตัน แต่มักประบปัญหาด้านการผลิต โดยเฉพาะดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี เกษตรกรขาดความรู้ด้านการผลิตและต้นทุนผลผลิตสูง จังหวัดจึงต้องเร่งพัฒนาคุณภาพและผลผลิตข้าวหอมมะลิจังหวัดด้วยระบบ GAP เพื่อพัฒนาและยกระดับขึดความสามารถด้านการแข่งขันด้านการตลาด รองรับการเชื่อมโยงเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเพิ่มช่องทางด้านการตลาดข้าวหอมมะลิของจังหวัดภายในประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งผู้ผลิต และผู้ประกอบการทั้งด้านผลผลิต ปริมาณ คุณภาพ และราคาที่เหมาะสม

เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานครั้งนี้ จังหวัดมหาสารคามได้อนุมัติงบประมาณกว่า ๗ ล้านบาท (๗,๗๑๐,๐๐๐ บาท) ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคามดำเนินการ รวม ๙ กิจกรรมประกอบด้วย ๑.การส่งเสริมการผลิตข้าวพันธุ์ดี ๒.การถ่ายทอดความรู้ตามกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ๓.การศึกษาและทดสอบสารเพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ยหรือสารเฮอร์บากรีน ๔.การส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ๕.ฝึกอบรมผู้ตรวจรับรองมาตรฐาน GAP / Organic / และ GMP โรงสีข้าว ให้สามารถเชื่อมต่อตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการสีเป็นข้าวสารที่ปลอดภัยไปสู่ผู้บริโภค ตามกระบวนการกิจกรรมที่ ๖ ในการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP / Organic ๗. การใช้โปรแกรมภูมิสารสนเทศเพื่อจัดทำโซนนิ่งแก่เจ้าหน้าที่ ๘. การศึกษาดูงานเกษตรอินทรีย์เพื่อศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมและเป็นต้นแบบการดำเนินงาน และกิจกรรมที่ ๙ การขยายตลาดข้าวหอมมะลิจังหวัดทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยปี ๒๕๕๗ จะดำเนินการนำร่อง ๑๐ กลุ่ม/ศูนย์ เกษตรกร ๒๐๐ ราย พื้นที่ ๒,๐๐๐ ไร่ อำเภอเมืองที่บ้านหนองคูศรีวิไล ตำบลหนองปลิง บ้านลาด และบ้านหนองนาแซง ตำบลลาดพัฒนา อำเภอบรบือที่บ้านโนนธรรม-โนนทอง ตำบลโนนแดง อำเภอโกสุมพิสัยที่บ้านวังโพน ตำบลเขวาไร่ อำเภอกันทรวิชัยที่บ้านเขียบ ตำบลขามเรียง และบ้านสมศรี ตำบลโคกพระ อำเภอวาปีปทุม ที่บ้านหนองเผือก ตำบลหนองทุ่ม อำเภอแกดำที่บ้านโพนสว่าง ตำบลหนองกุง และอำเภอเชียงยืน ที่บ้านเชียงยืน ตำบลเชียงยืน ทั้งนี้แต่ละกลุ่ม/ศูนย์ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ๒๐ ราย พื้นที่ ๒๐๐ ไร่ เพื่อนำร่องและเป็นต้นแบบกับเกษตรกรข้างเคียงต่อไป

เกษตรกรที่สนใจการการปลูกข้าวให้ผลผลิตและคุณภาพตามมารตรฐาน GAP หรือการผลิตข้าวอินทรีย์ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือติดต่อสอบถามโดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔