การประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Deputies’ Meeting)

21 Feb 2014
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Deputies’ Meeting : APEC FDM) ระหว่างวันที่ 17-20 กุมภาพันธ์ 2557 ณ เมืองโป๋อ้าว มณฑลไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายซื่อ เย่า บิน (Shi Yao Bin) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้หารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจและการเงินการคลังที่สำคัญ เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคในเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 สรุปได้ดังนี้

1. การหารือเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเอเปค โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม กลุ่มเขตเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนายังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่ประชุมมีความเห็นว่าสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคควรดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคนั้น APEC Policy Support Unit ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านนโยบายของสำนักเลขาธิการเอเปคได้กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจเอเปคเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีข้อสังเกตว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างประเทศเริ่มมีบทบาทน้อยลงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งสาเหตุประการหนึ่ง ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอุปสรรคด้านนโยบายกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ สมาชิกเขตเศรษฐกิจต้องเน้นการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน (Labour Productivity) ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปคที่กำลังพัฒนา

2. ที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นด้านการระดมทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเห็นว่าเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคยังต้องเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจากการศึกษาของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank: ADB) พบว่าภูมิภาคเอเปคมีความต้องการเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่ำ 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านการคลังของภาครัฐในเขตเศรษฐกิจต่างๆ การระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกในการระดมทุนที่ได้รับความสนใจ และมีการดำเนินการในหลายเขตเศรษฐกิจเอเปค นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนอื่นๆ ที่เขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถนำไปพิจารณา อาทิ การระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Funds) นักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) กองทุนบำนาญ (Pension Funds) หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds) รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเอื้อต่อภาคเอกชนในการลงทุนร่วมกับภาครัฐ และลดความเสี่ยงที่ภาคเอกชนจะได้รับจากการลงทุน ในการนี้ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้เสนอว่า เนื่องจากประเด็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และ PPP มีการหารืออย่างกว้างขวางในหลายเวทีการประชุมระดับพหุภาคี และเพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน จึงควรมีการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การประชุมหารือเกิดประโยชน์สูงสุด

3. ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิรูปนโยบายการคลังและภาษีเพื่อการปรับโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปนโยบายการคลังที่รักษาวินัยการคลัง โปร่งใส และมีความยั่งยืนทางการคลัง ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการลดความยากจน และความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ นอกจากนี้ ที่ประชุมเน้นความสำคัญของการวางแผนนโยบายการคลังและงบประมาณแบบระยะปานกลางและระยะยาวแทนการวางแผนประจำปี ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบนโยบายทางภาษี และนโยบายการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม

4. การหารือเกี่ยวกับความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของการบริการทางการเงินเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจจริงในภูมิภาค โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการเงินของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และผู้ผลิตวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานผ่านสินเชื่อธนกิจ รวมถึงนวัตกรรมทางการเงินที่ช่วยลดความเสี่ยงของผู้กู้ยืมที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงินเพื่อประกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ และการดำเนินโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร

5. ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของมาตรการริเริ่มต่างๆ ภายใต้กรอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ได้แก่ ความคืบหน้าของโครงการบริหารจัดการกองทุนภูมิภาคเอเชียข้ามพรมแดน (Asia Region Funds Passport: ARFP) เพื่อส่งเสริมการรวมตัวของตลาดทุนภายในภูมิภาค และความคืบหน้าของการประชุม Asia Pacific Financial Forum และการประชุม Asia Pacific Infrastructure Partnership (APIP) และรับทราบแผนการดำเนินการของกรอบภายใต้กระบวนการดำเนินงานของกระทรวงการคลังเอเปคในปี 2557

6. นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 นายสมชัยฯ ได้หารือทวิภาคีกับ Mr. Robert Dohner, Assistance Deputy Secretary for Asia, U.S. Treasury ในประเด็นนโยบายเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยสหรัฐอเมริกาได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งนายสมชัยฯ ได้ชี้แจงว่า ผลกระทบจะไม่รุนแรงหากสถานการณ์ทางการเมืองสามารถคลี่คลายได้ในระยะสั้น เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งอยู่มาก สำหรับประเด็นทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นาย Dohner ได้ชี้แจงว่า การปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing Tapering: QE Tapering) ครั้งล่าสุด เป็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และคาดว่ามาตรการการปรับลด QE ในอนาคตจะขึ้นอยู่กับสถานะของตลาดแรงงานสหรัฐฯ

7. ในวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2557 นายสมชัยฯ ได้เข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อนโยบายทางการคลังและภาษีเพื่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจคือ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยผู้แทนขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ได้นำเสนอแนวทางการปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เช่น การประกวดราคาที่โปร่งใสและเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างกว้างขวาง การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างและมีระบบการจัดเก็บข้อมูลและการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

อนึ่ง การประชุม APEC Finance Deputies’ Meeting ครั้งนี้ มีปลัดกระทรวงการคลังหรือผู้แทนของเขตเศรษฐกิจเอเปคที่เข้าร่วมการประชุมทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 02-2739020 ต่อ 3607