คร. ย้ำท่องเที่ยวหน้าร้อน ระวังโรคอาหารเป็นพิษ เน้นกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

17 Apr 2014
กรมควบคุมโรค แนะประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปให้ดูแลสุขภาพตนเอง เนื่องจากสภาพอากาศร้อน เชื้อโรคเติบโตเร็ว เสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง พร้อมเตือน 10 เมนูเสี่ยง ย้ำประชาชน กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อดูแลสุขภาพตนเอง
คร. ย้ำท่องเที่ยวหน้าร้อน ระวังโรคอาหารเป็นพิษ เน้นกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จึงอยากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงจากโรคอาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ระมัดระวังให้กินอาหารสะอาดปลอดภัยอยู่เสมอ ไม่ปรุงอาหารทิ้งไว้เป็นเวลานานก่อนนำไปให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะอาหารประเภทที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบจะบูดหรือเน่าเสียง่ายกว่าปกติ อาหารประเภทยำ ลาบ ต้องปรุงให้สุกทั่วถึง ผู้ปรุงอาหารต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี แต่งกายสะอาด รวบผม ล้างมือก่อนปรุงและหลังประกอบอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะต้องล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ส่วนผู้เดินทางท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคอาหารนั้น ถ้าจะแวะรับประทานอาหารขอให้เลือกร้านที่มั่นใจว่าสะอาด หรือมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย สำหรับน้ำดื่มหรือน้ำแข็งควรมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพจาก อย. รวมทั้งล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง

จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษของสำนักระบาดวิทยา พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 – 7 เม.ย. 2557 พบผู้ป่วยสะสม 34,378 รายทั่วประเทศ คิดเป็นอัตราป่วย 54.12 ต่อแสนประชากร ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ 45-54 ปี (ร้อยละ 10.93) รองลงมา 15-24 ปี (ร้อยละ 10.75) และ อายุมากกว่า 65 ปี (ร้อยละ 10.26) จังหวัดที่มีอัตราป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุดรธานี หนองบัวลำภู อุบลราชธานี ขอนแก่น และบุรีรัมย์ตามลำดับ อย่างไรก็ตามประชาชนควรระมัดระวังความสะอาดของอาหาร 10 เมนูเสี่ยงอันตรายยอดฮิตหน้าร้อน ได้แก่ 1. ลาบ/ก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ 2. ยำกุ้งเต้น 3. ยำหอยแครง 4. ข้าวผัดโรยเนื้อปู โดยเฉพาะกรณีที่ทำในปริมาณมาก เช่น อาหารกล่องแจก 5. อาหาร/ขนม ที่ราดด้วยกะทิสด 6. ขนมจีน 7. ข้าวมันไก่ 8. ส้มตำ 9. สลัดผัก และ 10. น้ำแข็ง ส่วนอาหารปิ้งย่างที่นิยมรับประทานกัน หมูกระทะ กุ้งกระทะ บาบีคิว ควรปิ้งให้สุกจะได้ปลอดภัยจากอาหารเป็นพิษ ระยะนี้เน้นรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ เท่านั้น ส่วนอาหารถุงอาหารกล่อง อาหารห่อ ต้องรับประทานภายใน 4 ชั่วโมงหลังปรุงสุก รวมถึงอาหารกระป๋องแม้จะปลอดภัยก็ต้องดูวันหมดอายุ สำหรับอาหารค้างคืน ต้องอุ่นทำให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง

“นอกจากนี้ผู้ปรุงอาหารควรยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด ส่วนผู้บริโภคต้องใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ โดยการปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ คือ 1. กินร้อน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างมื้อให้อุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อน 2. ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมวงกับผู้อื่น และ 3. ให้ใช้สบู่ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและภายหลังจากใช้ห้องส้วม รวมถึงก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 0-2590 3183 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นพ.โสภณ กล่าว