สสส. กระตุ้นเยาวชนให้เดินเพื่อสุขภาพดี จับมือ 16 “โรงเรียนรักเดิน” ลดภาวะแช่หน้าจอของเด็ก

16 Jul 2014
สสส. จับมือ 16 โรงเรียนในพื้นที่กทม. เปิดตัวกิจกรรม “โรงเรียนรักเดิน” ส่งเสริมเยาวชนไทยเพิ่มกิจกรรมทางกายเป็นวิถีชีวิตด้วยการเดิน หวังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออกกำลังกาย และเสริมสร้างสุขภาวะ ขจัดภาวะแน่นิ่ง สาเหตุโรคอ้วน ส่งเสริมให้หน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมออกแบบพื้นที่สาธารณะ

รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการ สำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย สสส. เปิดตัวกิจกรรม “โรงเรียนรักเดิน” เพื่อรณรงค์ และส่งเสริมให้เด็กไทยเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายด้วยการเดินทุกวัน ซึ่งเป็นวิธีการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีและง่ายที่สุด โดยผลวิจัยสนับสนุนว่า หากเยาวชนมีกิจกรรมทางกาย หรือการออกกำลังสม่ำเสมอจะมีผลต่อพัฒนาการทางการเรียนรู้ด้วย

“โรงเรียนรักเดิน” เป็นโครงการรณรงค์ที่ส่งเสริมให้นักเรียนเริ่มต้นเพิ่มกิจกรรมทางกายด้วยการเดินเป็นเวลา 2 เดือน (สิงหาคม – กันยายน 2557) โรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ ระดับชั้นมัธยมต้น และมัธยมปลายเข้าร่วม จำนวน 16 แห่ง โดยเครือข่าย สสส. ได้พัฒนาเครื่องวัดระดับกิจกรรมทางกาย และ Application ในโทรศัพท์มือถือเพื่อเก็บข้อมูลด้วยการตรวจวัดแคลอรี่หรือค่าการเผาผลาญพลังงาน และระยะเวลาที่ใช้ในการมีกิจกรรมทางกาย

รศ. ดร.วิลาสินี กล่าวว่า โครงการโรงเรียนรักเดินจะสร้างทัศนคติที่ดีให้แก่ เด็ก ผู้ปกครอง และครูต่อการเดินเพื่อสุขภาพในชีวิตประจำวัน โดยจากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2556 พบว่า เด็กไทยอายุระหว่าง 6-14 ปี ใช้เวลาไปกับพฤติกรรมนั่งๆ นอนๆ หรือเคลื่อนไหวน้อยถึง 13:33 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่วัยรุ่นไทยอายุระหว่าง 15-24 ปี ใช้เวลาไปกับพฤติกรรมดังกล่าวถึง 13:12 ชั่วโมงต่อวัน เช่น การนั่งดูโทรทัศน์ ใช้คอมพิวเตอร์ รวมถึงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพาประเภทต่างๆ มากกว่าเวลาของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนได้ อีกทั้งยังทำให้การ มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมลดลง อาจส่งผลกระทบทางอารมณ์และสติปัญญา รวมทั้งอาจทำให้ขาดความใส่ใจในสังคมและไม่เห็นคุณค่าของตัวเองต่อสังคมในระยะยาวได้

รศ.นายแพทย์ ปัญญา ไข่มุก ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า แนวโน้มประชากรส่วนใหญ่ของไทยมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกายไม่เพียงพอ หรือการเข้าสู่ภาวะแน่นิ่ง จากการใช้เทคโนโลยีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ประกอบกับมีการบริโภคอาหารที่มีไขมัน และพลังงานสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตสุขภาพของคนไทย โดยข้อมูลของสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่าการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้ที่มีภาวะอ้วนและลงพุงมีอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่า ร้อยละ 5 % จากปี 2547 ถึงปี 2552ในขณะที่แนวโน้มการออกกำลังกายมีการเพิ่มขึ้นต่ำกว่าร้อยละ 1 ซึ่งคาดว่าไทยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับโรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับบุคคลกลุ่มนี้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น เป็นเงินประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปีในขณะที่กลุ่มเด็กเล็กและเยาวชนวัยเรียน มีการคาดการณ์ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า จะมีเยาวชนถึง 1 ใน 5 ที่อยู่ในภาวะอ้วน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับทั่วกันว่าผู้ใหญ่ที่อ้วนมากประมาณร้อยละ 50-65 เคยเป็นเด็กอ้วนมากมาก่อน

รศ.นายแพทย์ ปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อพัฒนานโยบายและแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย รวมถึงการออกกำลังกาย สสส. จึงมีแนวคิดแบบบูรณาการในการพัฒนาเครื่องวัดระดับกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย เพื่อใช้เป็นดัชนีชี้วัด และแจ้งเตือนระดับการใช้พลังงานในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งผู้ใช้สามารถตรวจวัดค่าการ เผาผลาญพลังงาน แจ้งเตือน และแนะนำระดับการใช้พลังงานแบบอัตโนมัติสำหรับกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน และกิจกรรมทางกายเพื่อนันทนาการที่เหมาะสมกับบุคคลทุกกลุ่มอายุ และเพิ่มโอกาสการออกกำลังกายแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งหากสามารถกระทำได้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และช่วยในการแก้ไขปัญหาโรคอ้วน ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ การมีกิจกรรมทางกาย ด้วยการเดินและวิ่ง นับเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดชนิดหนึ่ง เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมทางกายพื้นฐานของมนุษย์ เหมาะสำหรับประชาชนทุกวัน ทำได้ง่าย มีต้นทุนต่ำ ทั้งเป็นกลไกสำคัญของการเล่นกีฬาเกือบทุกชนิด