สำหรับแผนลงทุนในปี 2557 ประกอบด้วย การปรับปรุงสาขาทั้ง 8 สาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศประกอบด้วย สาขานครราชสีมา สาขาเชียงใหม่ สาขาพิษณุโลก สาขาอุดรธานี สาขาอยุธยา สาขาชลบุรี สาขาสุราษฏร์ธานี สาขาหาดใหญ่ (ไม่รวมสาขากรุงเทพ ที่ตั้งอยู่ ณ สำนักงานใหญ่กรุงเทพ) และการเปิดสาขาใหม่ในปีนี้ 2 สาขาคือ สาขาอุบลราชธานี และ สาขาหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นรวม 35 ล้านบาท และกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2557
ภาพลักษณ์ใหม่ของสาขาทั้ง 8 แห่ง จะยกระดับการให้บริการ โดยพัฒนาสำนักงานสาขาให้มีความทันสมัย อาทิ ทำเลที่ตั้งของสาขา ติดถนนใหญ่ ในโซนธุรกิจ (สแตนอะโลน) เดินทางสะดวก และเห็นโลโก้ บสย. ได้ชัดเจนขึ้น เพื่อรองรับบริการผู้ประกอบการ SMEs ในการขอรับคำปรึกษาและแนะนำด้านการค้ำประกันสินเชื่อ
นอกจากนี้ยังเตรียมทีมบุคคลากรมืออาชีพ ที่เชี่ยวชาญด้านการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งจะช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการขอสินเชื่อจากธนาคาร การเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการก่อนการขอสินเชื่อ และ การให้คำแนะนำผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ
สำหรับสาขานครราชสีมา เป็นสาขาแห่งที่ 2 ที่มีการปรับปรุงแล้วเสร็จ โดยสาขานี้จะรองรับการบริการผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และมหาสารคาม ส่วนที่เหลืออีก 6 สาขากำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุง รวมถึงการเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้น 2 สาขาที่จะเปิดให้บริการภายในสิ้นปีนี้
นายวิเชษฐ กล่าวว่า การเปิด 2 สาขาใหม่ จะรองรับกับการขยายตัวของผู้ประกอบการในจังหวัดนั้นๆ และจังหวัดใกล้เคียง สอดรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวการค้าชายแดน และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
ในปีนี้รัฐบาลได้มอบหมายภารกิจให้บสย.ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเต็มกำลัง จากการอนุมัติ 3 มาตรการไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้แก่ มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมปีแรก ให้กับผู้ลูกค้าบสย.โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่าธรรมเนียมแทน วงเงิน 55,000 ล้านบาท มาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มโอทอป วงเงิน 10,000 ล้านบาท และ มาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 5,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม และการค้ำประกันเต็มจำนวน สำหรับลูกค้าโอทอปและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมั่นใจว่า มาตรการทั้ง 3 นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บสย.ยังได้เตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนให้มากที่สุด โดยกลยุทธ์ในครึ่งปีหลัง กำหนดให้ ฝ่ายกิจการสาขาเป็นหัวหอกสำคัญในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งทุนให้มากที่สุด นอกจากฝ่ายการตลาดที่ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันให้ตรงกับความต้องการให้มากที่สุด
ทั้งนี้ ผลดำเนินงานของบสย. ระหว่าง 1 มกราคม -31 กรกฏาคม 2557 มียอดค้ำประกันรวม 31,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ 12,847 ราย และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ จากธนาคารพันธมิตร รวมกว่า 52,246 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน รวมแล้วกว่า 244,027 ราย โดยสำนักงานสาขานครราชสีมา มียอดค้ำประกันรวมแล้วกว่า 1,234 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการได้ 585 ราย