ม.กรุงเทพ ร่วมกับ ททท. ชูแนวคิด Creative Convergence Education ผุดโครงการนำร่อง “บียู สตาร์ทอัพ” (BU STARTUP PROJECT) ระดมไอเดียวัยทีน โปรโมทแคมเปญ “หลงรักประเทศไทย” หวังกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในอนาคต

21 Apr 2014
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชูแนวคิด Creative Convergence Education สร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาพัฒนาศักยภาพความรู้ความเข้าใจของบัณฑิตในหลายมิติ เตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่โลกของการทำงานอย่างมืออาชีพ ล่าสุดจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปลดล็อคกรอบการเรียนรู้แบบเดิม ผุด “โครงการบียู สตาร์ทอัพ” (BU STARTUP PROJECT) โครงการนำร่องการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ล่าสุด ที่ระดมไอเดียสุดเจ๋ง จากนักศึกษาจาก 6 คณะยอดฮิต ประกอบด้วย คณะนิเทศศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะมนุษย์ศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว, คณะบริหารธุรกิจ และคณะเศรษฐศาสตร์ มาเรียนรู้การทำงานเป็นทีม แลกเปลี่ยนหลักวิชาการ ระดมความคิด เพื่อโปรโมทแคมเปญ “หลงรักประเทศไทย” โดยมุ่งหวังจะกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ
ม.กรุงเทพ ร่วมกับ ททท. ชูแนวคิด Creative Convergence Education ผุดโครงการนำร่อง “บียู สตาร์ทอัพ” (BU STARTUP PROJECT) ระดมไอเดียวัยทีน โปรโมทแคมเปญ “หลงรักประเทศไทย” หวังกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในอนาคต

ดร.มัทนา สานติวัตร อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกันผลักดันแนวคิด Creative Convergence Education การพัฒนาวิชาการเรียนการสอนแบบสร้างสรรค์ 360º ที่ปลดล็อคกรอบการเรียนรู้จากข้อจำกัดเดิมมาเป็นการคิดอย่างแตกต่างรอบด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมของบัณฑิตที่กำลังจะก้าวสู่โลกของการทำงานและการแข่งขันในอนาคต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญา พัฒนาศักยภาพความรู้ความเข้าใจในหลายมิติทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง ด้วยการผนวกความรู้ในเชิงวิชาการเข้ากับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำมาต่อยอดกลายเป็นผลงานที่ใหม่ สด แตกต่าง เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ

ภายใต้ “โครงการบียู สตาร์ทอัพ” (BU STARTUP PROJECT) โดยนำนักศึกษาจาก 6 คณะ ได้แก่ คณะนิเทศศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะมนุษย์ศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว, คณะบริหารธุรกิจ และคณะเศรษฐศาสตร์ มาเรียนรู้การทำงานเป็นทีม แลกเปลี่ยนหลักวิชาการและความคิด เพื่อเสริมจุดแข็งปิดจุดอ่อนของกันและกัน ต่อยอดเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่โดดเด่น เปี่ยมประสิทธิภาพ และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้จริง

นายศุกรีย์ สิทธิวนิช รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า “ททท.เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรและส่วนรวม จึงร่วมสนับสนุนการจัด “โครงการบียู สตาร์ทอัพ” (BU STARTUP PROJECT) ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยมอบหมายโจทย์ให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการ แคมเปญ “หลงรักประเทศไทย” รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวหันมาเที่ยวเมืองไทย อย่างเข้าถึง เข้าใจ และหลงรักแหล่งท่องเที่ยวของไทย ซึ่งมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเยาวชนไทยที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีความสำคัญในการท่องเที่ยวของไทยในอนาคต”

ดังนั้น แคมเปญ “หลงรักประเทศไทย” จึงกลายเป็น หัวข้อ หลักในการเรียนการสอน โดยนักศึกษาจะต้องนำความรู้จาก 6 คณะมาหลอมรวมกัน ตามแนว คิด Creative Convergence Education เพื่อคิดค้นไอเดียสดใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ของแคมเปญหลัก “หลงรักประเทศไทย” ให้ประสบความสำเร็จ และการร่วมโครงการครั้งนี้ของ ททท. เป็นการทำกิจกรรม เพื่อสังคมที่ล้ำหน้ามากกว่า CSR ทั่วไป ซึ่งถือเป็น Marketing 3.0 ที่เข้าไปร่วมคิดร่วมสร้าง ร่วมพัฒนา ศักยภาพเยาวชนไทย ผ่านกระบวนการทางการศึกษาที่สร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน”

นางสาวพนิดา งามมณีวัฒน์ ตัวแทนนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 กล่าวว่า “ขอบคุณอาจารย์และมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่ได้จัด โครงการบียู สตาร์ทอัพ” (BU STARTUP PROJECT) ซึ่งหลักสูตรนี้ทำให้ตนเองและเพื่อนๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ในโลกการทำงานอย่างจริง นำความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ของแต่ละคนมาแชร์ แล้วร่วมกันสร้างสรรค์งานออกมาให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย อย่างการออกแบบ App แนะนำการท่องเที่ยว หรือการนำเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ๆ มาถ่ายทอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กับคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และหลงรักประเทศไทยในมุมที่อาจจะไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน หลักสูตรนี้เราทำงานกันเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วยเพื่อนๆ จากคณะนิเทศศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะมนุษย์ศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว, คณะบริหารธุรกิจ และคณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกันวางคอนเซ็ปต์ แล้วแบ่งหน้าที่กันทำงาน อย่างตนเองอยู่คณะนิเทศศาสตร์ วางคอนเซ็ปต์ในการเล่าเรื่องผ่านสื่อสร้างสรรค์ 360º เพื่อนจากคณะเศรษฐศาสตร์ก็จะช่วยวิเคราะห์โอกาสทางด้านการเศรษฐกิจและสังคม คณะบริหารธุรกิจทำหน้าที่ช่วยวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย คณะมนุษย์ศาสตร์ก็จะช่วยในเรื่องของแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และการใช้ภาษาที่เหมาะสมและถูกต้อง คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ จะช่วยในเรื่องของการผลิตเทคโนโลยีสื่อสาร หรือการสร้างแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ตอบโจทย์แคมเปญฯ ตอนนี้เราได้ทำงานกันไปกว่า 50%แล้ว มีการลงสำรวจตลาดและพื้นที่ไปสัมผัสกับกลุ่มเป้าหมาย และสถานที่ที่เราต้องการโปรโมทจริงๆ”

สำหรับ “นวัตกรรมการศึกษา” ภายใต้แนวคิด Creative Convergence Education จะเกิดขึ้นได้ต้องสร้าง ให้เกิดบรรยากาศของการเรียนอย่างสร้างสรรค์ (Creative Learning Space) และการสอนอย่างสร้างสรรค์ (Creative Teaching) ไปพร้อมกันทั้ง 2 ฝั่ง ผสมรวมกับการร่วมคิดร่วมสร้าง (Collaboration) กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้สำเร็จ

BU STARTUP PROJECT ทำการเรียนการสอน 15 สัปดาห์ เรียนเป็นกลุ่ม ในแต่ละกลุ่มมีนักศึกษา จากทั้ง 6 คณะ โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนเป็น Project Base เริ่มต้นกับกิจกรรม Startup Camp เพื่อเป็นการเตรียมนักศึกษาทุกคนได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกัน พร้อมเปิดใจทำงาน ร่วมกัน มีการเชิญผู้รู้ มืออาชีพ ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ ผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อต่างๆ มาเป็นผู้สอน และเป็นวิทยากรรับเชิญ (Guest Speaker) เพื่อถ่าย ทอดเทคนิค ประสบการณ์ ให้นักศึกษาอย่างเต็มที่

กิจกรรม Creative Journey ให้นักศึกษาออกสำรวจ ลงพื้นที่ในชุมชนที่แตกต่างกันเพื่อเก็บข้อมูลนำมาสร้างสรรค์เนื้อหาเรื่องราวให้พื้นที่เกิดความน่าสนใจกลายเป็น Creative Tourism ปิดท้ายด้วย Final Project Showcase แต่ละกลุ่มจะต้องนำเสนอผลงานของกลุ่มตัวเองให้คณะกรรมการ พิจารณาถึง ความน่าสนใจ ความสดใหม่ ประโยชน์ และรวมถึงความเป็นไปได้ในการต่อยอดทำเป็นธุรกิจจริงซึ่งผลงานของกลุ่มที่ได้คะแนนมากที่สุดจะได้รับรางวัลชนะเลิศ และเงินรางวัล รวมถึงโอกาสที่จะได้ พัฒนาไปสู่การได้รับเงินทุนเพื่อนำผลงานไปดำเนินการเป็นธุรกิจจริงต่อไปในอนาคต นั่นหมายความ นักศึกษาที่เรียนจบวิชานี้ อาจมีโอกาสกลายเป็นเจ้าของธุรกิจตัวจริงได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลา สำเร็จการศึกษาเช่นที่เป็นมาในอดีตอีกต่อไป

BU STARTUP นี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ ททท. ที่แสดงถึง ความตั้งใจพัฒนาการเรียนการสอนนักศึกษาให้มีความคิดสร้างสรรค์ หลุดออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ที่ยึดติดอยู่กับความรู้เฉพาะตนเองเช่นในอดีตที่ผ่านมา แต่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มาจากต่างคณะ ต่างพื้นฐาน ต่างองค์ความรู้ ได้เรียนรู้ร่วมกัน ทำลายกรอบความคิดมิติเดียวของตัวเอง พร้อมเปิดรับความคิดต่างอย่างสร้างสรรค์จากเพื่อนนักศึกษาต่างคณะอย่างที่ไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อน เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นตั้งใจของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในการเป็นมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ และก้าวไปสู่สังคมแห่งความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

ม.กรุงเทพ ร่วมกับ ททท. ชูแนวคิด Creative Convergence Education ผุดโครงการนำร่อง “บียู สตาร์ทอัพ” (BU STARTUP PROJECT) ระดมไอเดียวัยทีน โปรโมทแคมเปญ “หลงรักประเทศไทย” หวังกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในอนาคต