ปรับทิศการศึกษาเด็กไทยรับ AEC “เรียนเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องสื่อสารได้”

19 Nov 2014
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตเชียงใหม่ โรงเรียนสองภาษา จัดเสวนา ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร. พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์อธิการวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนยีชีวภาพมหาวิทยาลัยรังสิต เรื่อง การปรับทิศทางการศึกษาเด็กไทยรับ AEC “เรียนเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องสื่อสารได้” และด้วยหลักสูตรทวิภาษาแบบองค์รวม (UnifiedBilingual Curriculum) ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตเชียงใหม่เป็นการมุ่งเน้นหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทวิภาษาตั้งแต่วัยเด็ก โดยเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และพร้อมสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะทางด้านต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะความสามารถ เพื่อการก้าวสู่ระดับสากล

ดร. อภิรมณ อุไรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวว่าหลักสูตรที่เราเปิดอยู่คือ Unified Bilingual Curriculum หรือหลักสูตรทวิภาษาแบบองค์รวมเป็นอีกหลักสูตรทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถตอบโจทย์ของการพัฒนาการศึกษา และศักยภาพของเด็กไทยเพื่อให้แข่งขัน หรือสู้กับความหลากหลายที่จะไหล่บ่าเข้ามาในประเทศเมื่อเปิดอาเซียน การศึกษาของไทยที่มีปัญหาอยู่ควรจะแก้ปัญหาอย่างไร การที่เรียนภาษาอังกฤษมา 12 ปียังพูดภาษาไม่ได้เท่าที่ควรจะเป็นอย่างไรและเมื่อเข้าไปสู่อุดมศึกษาก็ยังไม่สามารถสื่อสารได้อีก นับว่าเป็นการล้มเหลวของการศึกษา เราจึงสร้างโมเดลการเรียนแบบสองภาษาอย่างแท้จริงเพื่อต้องการให้เด็กสามารถสื่อสารภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้แหวกแนวจากนโยบายของกระทรวงแต่อย่างใด เรานำหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการของไทยเป็นฐาน และนำจุดดีจุดเด่นของหลักสูตรนานาชาติ (IB และ IGCSE) เข้ามาบูรณาการให้เกิดกระบวนการเรียนการสอนที่จะทำให้เด็กของเราเมื่อเข้ามาเรียนในระบบสองภาษาตั้งแต่เริ่มต้นจะเป็น Truly Bilingual ได้อย่างแท้จริง

ส่วนด้านองค์ความรู้ที่จะติดตัวเด็กไป คือ การสร้างให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ โดยอาศัยหลักการ เหตุและผลมากกว่าการท่องจำ และปลูกฝังให้เด็กมีความสุข อยากเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดที่เรียกว่า Live Long Learner นี่คือสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ และเชื่อว่าจะเป็นรูปแบบของการศึกษาที่ตอบโจทย์ หากมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง และแน่นอนว่านอกจากการเรียนการสอนที่ไม่เพียงเน้นให้เด็กรู้ว่าเรียนและต้องเป็นคนเก่ง ต้องเป็นคนฉลาดอย่างเดียวนั้น มองว่าเป็นค่านิยมที่ผิด สิ่งที่ต้องมีการปรับทัศนคติเสียใหม่ คือ เด็กที่ได้เข้ามาอยู่ในชุมชนที่สอง กล่าวคือ โรงเรียนต้องเป็นสถานที่ที่มากกว่าแหล่งเรียนรู้ หรือสร้างเด็กเก่งเพียงอย่างเดียว ควรมองว่าโรงเรียนเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่จะร่วมกันกับผู้ปกครองในการช่วยกันสร้างบุคลิกภาพ อุปนิสัยที่ดี มีคุณธรรม และจริยธรรม ที่สามารถออกมารับใช้สังคมและประเทศได้ โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการถูกบังคับแต่อย่างใด หากต้องเป็นด้วยบุคลิกที่หล่อหลอมอย่างเป็นธรรมชาตินั่นเอง

ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร. พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนยีชีวภาพมหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวว่า ถ้าเรามองการเรียนการสอนในอดีตก่อนที่จะมีระบบโรงเรียน สมัยก่อนนั้นพ่อแม่จะเป็น "ครู" ผู้สั่งสอนลูก โดยมุ่งสอนให้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง รวมถึงเป็นผู้ปลูกฝังอุปนิสัย คุณธรรม จริยธรรม และคอยแนะนำทักษะต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพราะหวังให้ลูกเมื่อโตขึ้นมาสามารถดำรงชีวิตมีทักษะอาชีพติดตัวไปทำมาหากินในอนาคต ส่วนลูกก็ได้ลงมือปฏิบัติงานจริง ภายใต้สภาพแวดล้อมจริงที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และเมื่อมีปัญหาก็จะให้คำแนะนำกันไป

เมื่อเริ่มมีระบบโรงเรียน พ่อแม่พยายามที่จะส่งลูกให้เข้าโรงเรียนและส่งเสียให้ได้เรียนสูงๆ รูปแบบการสอนได้เปลี่ยนจากการสอนแบบเดิมที่มุ่งสอนให้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง จากการที่บรรยากาศการเรียนการสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้มานาน ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางการเรียนการสอนขึ้น โดยนักเรียนอาจขาดความเป็นคนมีบุคลิกกล้าคิด กล้าทำ ไม่กล้าตัดสินใจด้วยตนเอง และมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมน้อยลง หากจะมีการปฏิรูปการศึกษาควรหันมาบริบทของการศึกษากันใหม่ อาจต้องมีความเข้าใจความเป็นไปของสังคมไทยก่อน และเริ่มพัฒนากันตั้งแต่ต้นทางคือระดับปฐมวัย สู่ปลายทาง คือระดับอุดมศึกษาโดยการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสังคมไทย เราต้องรู้ว่าแท้จริงแล้ว เราต้องการให้ลูกของเราเติบโตขึ้นมามีความรู้ความสามารถ มีอุปนิสัยที่ดี รวมถึงมีคุณธรรม และจริยธรรม เพื่อใช้ชีวิตในการประกอบอาชีพ และรับใช้สังคมได้ ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการเรียนเก่งเพียงอย่างเดียวแต่สอบตกในแง่ของการดำเนินชีวิตหมายความว่าผู้บริหารสถานศึกษาต้องลองหันมามองว่าโรงเรียน หรือสถานศึกษาของเราต้องเข้าใจ และปรับรูปแบบของการเรียนการสอนให้เหมาะสมก่อน เพื่อเตรียมคนหรือเด็กของเราให้มีความพร้อมมากกว่านี้

ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเตรียมความพร้อมในการเข้าAEC นั้น เป็นเรื่องของการเตรียมฮาร์ดแวร์ คือสาธารณูปโภค ซึ่งอันนี้สามารถค่อยๆพัฒนาไปได้ และการเตรียมซอฟต์แวร์ คือ คน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก การเตรียมคนนั้นต้องเริ่มทำความเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้น โรงเรียนควรมีการสอดแทรกทำความเข้าใจเกี่ยวกับกับอาเซียนให้เด็ก เมื่อรู้แล้วว่าการเปิดอาเซียนจะมีประโยชน์เพียงไร ก็จะนำไปสู่เรื่องของการสื่อสาร เด็กเก่งที่จะเข้าสู่อาเซียนควรสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติ ถามว่าปัจจุบันเด็กไทยเรามีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ที่นับว่าเป็นภาษาสากลได้หรือยัง หากพิจารณาแล้วนักเรียนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาบางครั้งยังไม่สามารถสื่อสารภาษาได้ดีเท่าที่ควร ไม่สามารถพูดได้คล่องแคล่ว เพราะเราไม่ได้เรียนภาษาแบบCommunicative English แต่เราเรียนภาษากันแบบGrammar English ดูการใช้Simple tense Past tenseหรือแบบประโยคถูกตรงตามหลักไวยากรณ์หรือไม่ เป็นต้นในขณะที่ความเป็นจริงควรเรียนในการที่จะสื่อสารอย่างไร พูดอย่างไรให้เข้าใจส่วนGrammar ค่อยตามมาให้ดูสมบูรณ์ภายหลังซึ่งนี่เป็นสิ่งจำเป็นเพราะความเป็นจริงในยุคAEC จะมีเรื่องการค้า เศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง และการศึกษา เข้ามามีบทบาท เราต้องเข้าใจและสื่อสารภาษาได้อย่างลึกซึ้งเสียก่อน แล้วจะทำอย่างไรให้เข้าใจภาษาได้อย่างลึกซึ้ง นั่นคือการเตรียมตัว เรามีโอกาสมากในปัจจุบันด้านการศึกษา สามารถที่จะเริ่มเตรียมตั้งแต่เล็กๆ จะเรียนโรงเรียนไทย โรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนทางเลือกอื่นๆ อาทิ สองภาษา หรือสามภาษาก็ตาม แต่ควรเรียนโรงเรียนที่เน้นภาษาพูดมากกว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมชาติในการสื่อสาร แต่อย่างไรก็ไม่ได้ลืมความเป็นตัวตนของเรา คือภาษาท้องถิ่นของเราด้วยนั่นเอง และในอนาคตภาษาที่อาจเสริมเข้ามาคือ บาฮาซ่า เป็นต้น