กสิกรไทย ช่วยเต็มที่ เสริมสภาพคล่องธุรกิจค้าพืชไร่ กระจายรายได้สู่เกษตรกร

07 Nov 2014
กสิกรไทย ชี้อนาคตพืชไร่ยังสดใส ช่วยผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมด้านการเงินทั้งเงินกู้ระยะยาวสร้างโกดังเก็บผลผลิตเพิ่มและเงินทุนหมุนเวียนสำหรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร เพื่อกระจายรายได้ลงสู่ชาวไร่ คาดมีการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 7% โดยสิ้นปีมียอดสินเชื่อคงค้างของธุรกิจค้าพืชไร่อยู่ที่ 19,000 ล้านบาท

นายอัครนันท์ ฐิตสิริวิทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ช่วงปลายปีจะเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของชาวไร่ ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจค้าพืชไร่จำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก เพื่อรับซื้อพืชผลทางการเกษตรจากชาวไร่เข้าสต็อกและขายไปยังผู้ต้องการใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการหาพื้นที่โกดังในการเก็บรักษาพืชผลทางการเกษตร

ในครั้งนี้ ธนาคารได้เตรียมวงเงินไว้ช่วยผู้ประกอบการธุรกิจค้าพืชไร่ โดยสนับสนุนเงินทุนให้กับลูกค้าที่ต้องการก่อสร้างโกดังเพื่อใช้ในการเก็บผลผลิต และเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเพิ่มกำลังการซื้อผลผลิตของลูกค้าให้สามารถแข่งขันได้ โดยที่ผ่านมาลูกค้ามีการเดินบัญชีกับธนาคาร ทำให้ธนาคารมีความเข้าใจในการทำธุรกิจของลูกค้าจึงสามารถสนับสนุนเงินทุนได้มากขึ้น โดยผู้ประกอบการธุรกิจค้าพืชไร่รายใหญ่ 1ราย จะใช้เงินทุนหมุนเวียนเฉลี่ยวันละ 10-12 ล้านบาทเพื่อซื้อผลผลิตจากคู่ค้า 2 กลุ่ม คือ การรับซื้อจากผู้ค้าพืชไร่ที่รวบรวมซื้อผลผลิตการเกษตรจากชาวไร่ และการรับซื้อโดยตรงจากชาวไร่ ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ 1 ราย จะสามารถกระจายรายได้ไปสู่ชาวไร่ได้โดยตรงถึง 1,800 ราย

ปัจจุบัน ธนาคารมีลูกค้ากลุ่มธุรกิจพืชไร่ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 ประมาณ 4,000 ราย โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 17,720 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14% ธุรกิจพืชไร่นับว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดีธุรกิจหนึ่ง และธนาคารคาดว่าในช่วงสิ้นปีนี้จะมียอดสินเชื่อคงค้างของธุรกิจพืชไร่อยู่ที่ 19,000 ล้านบาท เติบโต 7% จากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

นายอัครนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ธนาคารยังให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับธุรกิจที่อยู่ในวงจรธุรกิจค้าพืชไร่ทั้งหมด เช่นในธุรกิจมันสำปะหลัง ประกอบด้วย ลานมันรายย่อย ลานมันขนาดกลาง ผู้ส่งออก โรงงานอาหารสัตว์ และฟาร์มต่างๆ เพื่อให้มีเงินทุนที่เพียงพอในการทำธุรกิจและการซื้อผลผลิตเพื่อกระจายรายได้ลงไปสู่ชาวไร่ได้มากขึ้น