สกย. เตรียมต้นกล้าปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี พร้อมจ่ายให้เกษตรกรผู้รับการสงเคราะห์ ทันฤดูปลูกนี้แน่นอน

19 Dec 2014
เมื่อเร็วๆ นี้ สกย. ลงพื้นที่แปลงผลิตพันธุ์ยางและศูนย์เรียนรู้ยางพาราในเขตภาคใต้ ติดตามการผลิตปัจจัยการผลิตสำหรับฤดูกาลใหม่ (ปี 2558) พบว่า แปลงผลิตฯ และศูนย์เรียนรู้ยางพารา มีการเตรียมความพร้อมสำหรับผลิต ยางชำถุงและต้นกล้าปาล์มน้ำมันเพื่อให้บริการสำหรับเกษตรกรและผู้รับการสงเคราะห์เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้

นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวว่า ปัญหาราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรที่ขอทุนสงเคราะห์กับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ตัดสินใจเปลี่ยนพืชที่จะปลูกแทนรอบใหม่จากยางพาราเป็นไม้ยืนต้นชนิดอื่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศ ทั้งนี้ สำหรับในฤดูกาลปลูกที่จะมาถึงนี้ สกย. ได้จัดเตรียมพันธุ์ปาล์มน้ำมันไว้ให้บริการกับเกษตรกรผู้รับการสงเคราะห์จำนวน 150,000 ต้น โดยทั้งหมดเป็นพันธุ์ปาล์มที่ได้จัดซื้อต้นกล้าปาล์มอายุ 3-5 เดือน จากศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วยพันธุ์สุราษฎร์ธานี 1,2,3,7 และ 8 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงทั้งสิ้น และในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนย้ายลงถุงใหญ่พร้อมปรับพื้นที่สำหรับวางในแปลงกล้าปาล์ม คาดว่า สามารถจ่ายให้กับเกษตรกรได้ทันฤดูกาลปลูกนี้แน่นอน โดยเฉพาะแปลงผลิตพันธุ์ยางในพื้นที่ความดูแล สกย.จ.สุราษฎร์ธานี ขณะนี้มีพันธุ์ปาล์ม พร้อมจำหน่าย ประมาณ 10,000 ต้น ไว้รองรับความต้องการของเกษตรกรควบคู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ความต้องการต้นกล้าปาล์มน้ำมันในฤดูกาลปลูกนี้ คาดว่าน่าจะมีความต้องการมาก เนื่องจากมีผู้สนใจปลูกปาล์มมากขึ้น อาจส่งผลให้ราคากล้าปาล์มน้ำมันในตลาดมีราคาสูงขึ้น แต่ สกย.ยังคงจ่ายให้เกษตรกรผู้รับการสงเคราะห์ในอัตราต้นละ 55 บาท เท่านั้น และนอกจากนี้ ยังได้ติดต่อประสานงาน สั่งจองไว้กับศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี อีกจำนวน 90,000 ต้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้รับการสงเคราะห์ สำหรับเกษตรกรที่จัดหาพันธุ์ปาล์มเอง

นายทวีศักดิ์ คงแย้ม ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการสงเคราะห์ สกย. กล่าวเพิ่มเติมว่า การคัดเลือกพันธุ์ปาล์มน้ำมัน ตามคำแนะนำของศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี เพื่อให้เกษตรกรสามารถพิจารณาเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการคัดเลือกซื้อ ประกอบด้วย 5 หลักการ ได้แก่ 1) พิจารณาจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้หรือผู้ผลิตที่สามารถให้คำรับรองพันธุ์และหลักฐานใบเสร็จรับเงินจากการซื้อพันธุ์ได้ 2) ควรสอบถามข้อมูลและตรวจสอบแหล่งที่มาของพันธุ์ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ 3) เลือกซื้อพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอรา (DrP= Tenera) จากแปลงเพาะชำที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ตรวจรายชื่อแปลงเพาะชำจาก www.doa.go.th หรืสอบถามจากหน่วยงานสังกัดกรมวิชาการเกษตรและศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี 4) พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ จากแหล่งผลิตที่มีมาตรฐานซึ่งผ่านการคัดเลือกอย่างดี จะให้ผลดีกว่าปาล์มน้ำมันที่ไม่ทราบแหล่งที่มา ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงสำหรับเกษตรกร และ 5) เกษตรกรจะต้องพิจารณาเลือกพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในเขตที่เหมาะสมโดยศึกษาลักษณะเฉพาะและข้อจำกัดของปาล์มน้ำมัน ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตได้